ราคายาง เริ่มผงกหัว คาดยิงยาวถึงต้นปีหน้า มีโอกาสเห็น 80 บาท/กก.
กยท. ระบุราคายางเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง สัญญาณยาวถึงต้นปีหน้ามีโอกาสเห็น80 บาท/กก. หลังผลผลิตมีน้อยความต้องการสูง จีนเตรียมโล๊ะสต็อก ขณะใกล้เข้าฤดูกาลปิดหน้ากรีด
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ราคายางกลับมาเป็นบวกอีกครั้งหลังจากในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเป็นขาลง ซึ่งภาพรวมถือว่ายังอยู่ในภาวะปกติ เป็นไปตามกลไกการตลาดที่ เมื่อไรก็ตามที่ราคายางปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้สักระยะหนึ่ง จะมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามากดราคายางให้ต่ำลง แต่เนื่องจากปัจจุบัน ปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดมีน้อย ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ คืออินโดนีเซีย เวียดนาม มีปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งพื้นที่ปลูกได้รับความเสียหายจากโรคใบร่วงที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ส่วนภาคได้ตองไทยมีฝนตก
ในขณะที่การระบาดของโควิด 19 ทำให้ประชาชนทั่วไปใส่ใจเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น ความต้องการใช้ถุงมือยาง จึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้อุตสาหกรรมยางล้อเริ่มฟื้นตัว ทำให้ราคายางดิ่งตัวลงได้ไม่นาน โดยคาดว่าหลังจากนี้เป็นต้นไปจนถึงต้นปีหน้าราคายางจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกครั้ง เพราะใกล้เข่าสู่ช่วงปิดหน้ากรีด (มี.ค.-ก.ค.) ปริมาณยางที่ปัจจุบันมีน้อยอยู่แล้ว จะน้อยลงไปอีก จีนผู้ใช้ยางรายใหญ่ ที่ปีนี้สต็อกยางน้อยมาก จะต้องนำสต็อกมาใช้ในช่วงต้นปีหน้า และต้องเร่งกว้านซื้อกลับ ทั้งหมดจะเป็นโอกาสของราคายางในประเทศจะปรับสูงขึ้นอีกครั้ง โดยอาจจะเห็นตัวเลข 80 บาทต่อกิโลกรัม
“เกษตรกร จะไม่ได้รับผลกระทบในสถานการณ์ที่ผันผวน เพราะรัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ ที่โครงการระยะที่2 ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณางบประมาณโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) หากเห็นชอบก็สามารถดำเนินการจ่ายเงินงวดแรกให้เกษตรกรได้ทันที เพราะ กยท.เตรียมข้อมูลไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วโดยเร็วที่สุดคาดว่าจะดำเนินการได้ในวันที่ 26 พ.ย. นี้ ”
โดยรายละเอียดประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. ภายในวันที่ 15 พ.ค. 2563 จำนวน 1,834,087 ราย คิดเป็นพื้นที่จำนวน 18,286,186.03 ไร่ สวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ต.ค.63 – มี.ค. 2564) แบ่งจ่ายเป็น 6 งวด
ทั้งนี้ การกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้แบ่งออกเป็น ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 กก./ไร่ และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวน 40 กก./ไร่ แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน 60% และคนกรีดยาง 40% ราคายางที่ประกันรายได้แบ่งตามประเภท ดังนี้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC100%) 57 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กก. ใช้วงเงินงบประมาณรวม 10,042 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์ การผลิตยางของไทยในปี 63 คาดว่าจะมีผลผลิต 4.9 ล้านตัน ในจำนวนนี้จะส่งออกได้ 4.18 ล้านตัน การส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและยางแปรรูปมีมูลค่า 11.2 พันล้านดอลลาร์