ส่อง 'กระเป๋าตังค์' รัฐบาลเหลือเงินเท่าไหร่สู้ภัย ‘โควิด’

ส่อง 'กระเป๋าตังค์' รัฐบาลเหลือเงินเท่าไหร่สู้ภัย ‘โควิด’

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 2 ซึ่งมีผู้ป่วยในการระบาดรอบนี้กว่า 1 หมื่นราย มีพื้นที่ทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า 28 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ 75% รัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินนับแสนล้านบาทในการดูแลเศรษฐกิจ

แม้จะมีความคืบหน้าเรื่องวัคซีนโควิด-19 ตามลำดับและใกล้เวลาที่วัคซีนลอตแรกจะมาถึงประเทศในช่วงกลางเดือนก.พ.แต่ต้องยอมรับว่าท่ามกลางความไม่แน่นอนและความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อ สิ่งหนึ่งที่เป็นคำถามก็คือในสถานการณ์ ปัจจุบันรัฐบาลเหลือเม็ดเงินเท่าไหร่ในการรับมือกับโควิด-19 เพราะวงเงินที่เหลืออยู่จะเป็นตัวชี้วัดว่าภาครัฐจะมีความสามารถในการเพียงพอในการใช้จ่าย เยียวยา และดูแลประชาชนได้มากน้อยเพียงใด 

วงเงินในการรับมือโควิด-19 ของรัฐบาลไม่ได้มาจากงบประจำที่เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เบิกจ่ายโดยทั่วไป แต่เป็นเงินใน 2 ส่วนคือวงเงินจาก “เงินกู้” และ “งบกลางฯ” โดยสามารถอธิบายได้คือ 1.งบเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ภายหลังจากที่มีการอนุมัติวงเงินในโครงการเยียวยาประชาชน รวมทั้งอนุมัติในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมบางส่วนไปแล้วพบว่าเหลือวงเงินประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังอยู่ระหว่างจัดทำกรอบการจัดสรรวงเงินใหม่เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งรวมไปถึงการกระตุ้นการบริโภคในประเทศด้วย 

2.งบกลางฯ ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งงบกลางฯเปรียบเสมือนกระเป๋าเงินสำรองของรัฐบาลที่จะสามารถนำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนและใช้จ่ายในโครงการอื่นๆได้ตามความจำเป็นเร่งด่วนแต่ในปีนี้มีการจัดงบฯกลางไว้ 2 ส่วนคืองบกลางปกติและงบกลางสำหรับโควิด-19 

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ  เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่างบกลางฯในปี 2564 มีการจัดสรรวงเงินงบกลางฯไว้กว่า 1.39 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น พ.ศ.2564 วงเงิน 9.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นงบกลางฯที่ตั้งไว้เพื่อช่วยเหลือประชาชน และจัดทำโครงการต่างๆทุกประเภทซึ่งครอบคลุมภัยพิบัติ การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาโรคระบาดพืช รวมทั้งงบประมาณที่มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ โดยในส่วนนี้มีพึ่งจะมีการอนุมัติให้ใช้จ่ายไปเพียงไม่กี่รายการในหลักร้อยล้านบาท ซึ่งในอนาคตหากมีความจำเป็นจะใช้งบประมาณในส่วนนี้ในการแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 หน่วยงานต่างๆสามารถขอใช้งบประมาณในส่วนนี้มายังนายกรัฐมนตรีได้ 

161192472296

ส่วนงบกลางฯอีกส่วนในปีนี้เป็นงบกลางเฉพาะกิจที่ตั้งงบไว้สำหรับรองรับสถานการณ์โควิิด-19 วงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ไปแล้วประมาณ 7,000 ล้านบาทเศษ โดยอนุมัติให้กับกระทรวงสาธารณสุขในส่วนแรกเป็นการอนุมัติงบประมาณ 2,379.43 ล้านบาท ในโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19)สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้ากับบริษัท AstraZeneca และการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท Astra Zeneca ตามมติ ครม.ตั้งแต่เดือน พ.ย.2563 

ส่วนงบประมาณอีกส่วนหนึ่งคืองบที่อนุมัติไว้ให้กับกระทรวงสาธารณสุขในการรับมือและเตรียมความพร้อมทางสาธารณสุขในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 2 เป็นวงเงิน 4,661.12 ล้านบาท เท่ากับงบกลางฯในการรับมือโควิด-19 เบ็ดเสร็จเหลืองบกลางฯส่วนโควิดคงเหลืออยู่ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท   

โดยสรุปวงเงินที่รัฐบาลเหลืออยู่ใน “กระเป๋าสตางค์” เพื่อรับมือกับโควิด-19 ยังคงเหลืออยู่ประมาณ 3.82 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 1.เงินกู้ฯ 2.5 แสนล้านบาท 2.งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นฯปี 2564 วงเงิน 9.9 หมื่นล้านบาท และ 3.งบกลางสำหรับโควิด-19 วงเงินคงเหลือประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท

...เงินที่เหลืออยู่ในส่วนนี้ ทางผ.อ.สำนักงบประมาณมั่นใจว่าจะสามารถใช้ดูแลเศรษฐกิจไทยได้หากไม่มีการระบาดในระลอกที่ 3 เกิดขึ้น