'โรเบิร์ตวอลเทอร์ส' มองจ้างงาน 'อีอีซี' สดใสหลังโควิด ยานยนต์-หุ่นยนต์ต้องการพุ่ง
“โรเบิร์ตวอลเทอร์ส” มองจ้างงานในอีอีซียังสดใสหลังโควิด-19 อุตสาหกรรมในกลุ่มเป้าหมายยังมีความต้องการแรงงานสูง ชี้ 3 กลุ่มมีความต้องการงานสูงการแพทย์และสุขาภาพ- ยานยนต์และหุ่นยนต์ยุคใหม่ และโลจิสติกส์ มั่นใจโครงการอีอีซียังมีความพร้อมดึงดูดการลงทุน
ปี 2563 เป็นปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อตลาดแรงงานและการจ้างงาน ภาคธุรกิจและแรงงานต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีบางสาขาอาชีพที่มีแนวโน้มเติบโตและเป็นที่ต้องการมากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน
ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ประจำประเทศไทย เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปี 2563 อุตสาหกรรมที่เป็นธุรกิจที่เติบโตในไทยมาต่อเนื่องอย่างการท่องเที่ยว และการผลิตรถยนต์ได้รับผลกระทบอย่างมากตามภาวะเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับในธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับผลมาจากการบริโภคที่ลดลง
ขณะที่ผลจากการสำรวจพบว่าได้รับผลกระทบน้อยและมีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตมากขึ้นได้ คือ ภาคธุรกิจประเภทอุปโภคบริโภค (FMCG) เภสัชกรรม การประกัน การลงทุนส่วนบุคคล (private wealth) เทคโนโลยี ดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ ซัพพลายเชนและอุตสาหกรรมการให้บริการขนส่ง (logistics)
ส่วนในอีอีซีพบว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 น้อยที่สุด ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งมีฐานการผลิตใหญ่ในพื้นที่อีอีซีได้รับผลกระทบมาก
อย่างไรก็ตามในมุมมองที่นักธุรกิจและนักลงทุนยังมีต่ออีอีซียังเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจและความเชื่อที่จะเข้ามาลงทุนรวมถึงหาบุคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานให้กับองค์กร ซึ่งในการจ้างงานในอีอีซีจะกลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากการลงทุนในพื้นที่จะเริ่มกลับมาเติบโตได้จากการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อม
รวมทั้งธุรกิจฐานการผลิตในพื้นที่อื่นที่ได้รับผลกระทบอาจจะมีการขยายการลงทุนมายังอีอีซี เพื่อลดความเสี่ยงจากความเสี่ยงในพื้นที่อื่นทำให้การจ้างงานในอีอีซีในสาขาที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายยังมีทิศทางที่เติบโตต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ จากปัจจัยที่ไทยมีความพร้อมในเรื่องของสาธารณสุขและการได้รับการยอมรับจากต่างประเทศในการควบคุมโรคระบาดโควิด-19 ได้ดีในระดับหนึ่งทำให้คาดการณ์ว่าจะช่วยหนุนการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะในอีอีซีจะเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตในอนาคต ได้แก่
ธุรกิจในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ (Health and Wellness) ธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์และหุ่นยนต์ยุคใหม่ (Automotive and Robotics) เพื่อรองรับการเติบโตของยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีและหุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์
ส่วนอีกอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต คือ ธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (Logistics and Supply Chain) ซึ่งเป็นอีกอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนธุรกิจอื่นทั้งการขนส่งภายในและต่างประเทศ
ทั้งนี้จากแนวโน้มความต้องการของงานในอีอีซี ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของประเทศต้องการบุคลากรด้านปรับปรุงพัฒนาด้านวิศวกรรมโครงการ และบุคลากรระดับอาวุโสด้านภาพรวมอุตสาหรรม ในอุตสากรรมซัพพลายเชนเพื่อรักษาความต่อเนื่องของธุรกิจ ขณะที่ยังต้องรักษาต้นทุนธุรกิจให้คงที่หรือลดลงได้ในสภาวะปัจจุบันที่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินอย่างคุ้มค่า
สอดคล้องกับในภาพรวมปี 2564 การจ้างงานบุคลากรจะยังคงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากองค์กรพยายามที่จะรักษาและสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถภายในองค์กรนั้นๆแทนที่การสรรหาบุคลากรภายนอกองค์กร ในขณะบางอุตสาหกรรมอาจมีการหยุดการจ้างงานชั่วคราวและความล่าช้าเกิดขึ้น ทั้งนี้บุคลากรและองค์กรสามาถคาดการณ์ได้ว่าจะแข่งขันทางตลาดในการจ้างงานผู้สมัครที่มีความสามารถ ซึ่งสังเกตได้จากจำนวนการใช้งานโปรแกรมสื่อสารออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในการสัมภาษณ์งาน
“ในระยะยาวโครงการอีอีซียังดึงดูดความสนใจนักลงทุนจากต่างประเทศที่ยังมีมุมมองเชิงบวกของต่อสถานการณ์ในไทย โดยเฉพาะในอีอีซีที่รัฐบาลเตรียมพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนต่อเนื่อ' ซึ่งคาดว่าธุรกิจชั้นนำรวมถึงการลงทุนในอนาคตเพิ่มโอกาสการจ้างงานแรงงานที่มีศักยภาพสอดคล้องกับยุคนิวนอมอล”
ทั้งนี้บริษัทฯ ได้สำรวจเงินเดือนและแนวโน้มการจ้างงานปี 2564 ของไทยพบว่าข้อมูลสำคัญสาขาการผลิตในส่วนของวิศวกรรมและการผลิต ซึ่งเป็นสาขาที่มีการจ้างงานในอีอีซีมากที่สุด พบว่า สิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญในองค์กรที่สุดในปี 2564 ได้แก่ 1.การมีเพื่อนร่วมงานที่สร้างแรงบันดาลใจ และการมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี 2.ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดี 3.การทำงานที่ยืดหยุ่น
ขณะที่ผลการสำรวจที่เกี่ยวข้องด้านอื่นๆพบว่าในปี 2564 บริษัท 49 ปรับขึ้นเงินเดือนในกลุ่มอาชีพนี้ ขณะที่พนักงานกว่า 88% ในสาขานี้มีความสนใจที่จะมองหางานใหม่ 85% ของพนักงานยังมีความมั่นใจต่อโอกาสในการทำงานในปัจจุบัน ขณะที่ความคาดหวังของพนักงานที่จะได้รับการปรับเงินเดือนในสาขาอาชีพอยู่ที่ 38%
โดยตำแหน่งงาน 3 อันดับที่อุตสาหกรรมวิศวกรรมและการผลิตที่บริษัทฯสำรวจพบว่ามีความต้องการมากที่สุดในสาขานี้ได้แก่ 1.ตำแหน่ง Continuous Improvement หรือ Lean Manager มีค่าจ้างตอบแทนการจ้างงานในปี 2564 ต่อปีอยู่ที่ 1.44-1.92 ล้านบาท ไม่เปี่ยนแปลงจากปีก่อน
2.ตำแหน่งงาน Quality Manager ค่าตอบแทนการจ้างงานต่อปีในปี 2564 อยู่ที่ 1.6-3.6 ล้านบาทต่อปี ปรับเพิ่มจากปี 2563 ที่อยู่ประมาณ 1.6-3.4 ล้านบาต่อปี และ 3.Engineering Manager หรือ Program Manager มีค่าตอบแทนการจ้างงานต่อปีในปี 2564 อยู่ที่ 1.6-2.6 ล้านบาทต่อปี ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน