ส.อ.ท.ผุดกองทุนนวัตกรรม ระดม2พันล.เสริมแกร่งเอสเอ็มอี

ส.อ.ท.ผุดกองทุนนวัตกรรม  ระดม2พันล.เสริมแกร่งเอสเอ็มอี

ในแต่ละปีบริษัทขนาดใหญ่ล้วนแต่ใช้เงินในโครงการซีเอชอาร์ ในการช่วยเหลือสังคมเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่การช่วยเหลือเพื่อสร้างศักยภาพในระยะยาวผ่านรูปแบบกองทุนน่าจะเป็นคำตอบของโจทย์การทำธุรกิจการค้าในยุคใหม่นี้

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้ร่วมกับภาครัฐจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม โดยรูปแบบของกองทุนฯนี้ จะเป็นการร่วมลงเงินทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งภาคเอกชนรายใหญ่จะเป็นผู้สมทบทุน 1 ส่วน และรัฐจะสมทบทุนอีก 1 ส่วน แต่ไม่เกิน 1 พันล้านบาท ภายใน 3 ปี เช่น เอกชนลงเงินเข้ากองทุนฯ 500 ล้านบาท รัฐก็ลงเงินอีก 500 ล้านบาท เป็นต้น แต่มั่นใจว่าภายในปีแรกเอกชนน่าจะลงเงินทุนมากกว่า 1 พันล้านบาทอย่างแน่นอน รวมแล้วกองทุนนี้จะมีเงินไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท และภาคเอกชนจะสมทบทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

โดยความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เห็นชอบกับโครงการนี้แล้วและพร้อมที่จะสมทบเงินกองทุน 1 พันล้านบาทภายใน 3 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกรมสรรพากรที่จะขอให้การส่งเสริมภาคเอกชนที่ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนโดยการนำเงินจำนวนนี้ไปหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า จากปัจจุบันที่อนุมัติให้กับลดหย่อนได้เพียง 2 เท่า ขณะเดียวกันก็จะช่วยยกระดับเอสเอ็มอีในทุกด้านโดยที่รัฐใช้งบประมาณเพียง 1 พันล้านบาทในช่วง 3 ปีแรก แต่กองทุนฯนี้จะช่วยเอสเอ็มอีได้ในระยะยาว ซึ่งคาดว่ากองทุนฯจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

161494152531

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังได้เป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ สร้างอีโคซิสเต็มในด้านการวิจัยสร้างนวัตกรรมขึ้นมาอย่างครบวงจร และใช้เงินลงทุนในการวิจัยให้ต่ำที่สุด โดยมหาวิทยาลัยเหล่านี้ล้วนแต่มีเทคโนโลยีในทุกด้าน ทั้งในเรื่องการพัฒนาสร้างสินค้าใหม่ๆ เทคโนโลยีการผลิต และลดต้นทุน รวมทั้งเทคโนโลยีการบริหารจัดการ และการตลาดมากมาย ที่ภาคเอกชนจะนำมาต่อยอดให้เกิดการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป

หากรัฐให้การส่งเสริมโดยการลดหย่อยภาษีได้ 3 เท่า ก็จะยิ่งจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมโครงการมากขึ้น โดยโครงการนี้จะช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมากทั้งจากยอดขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งยังเป็นการต่อยอดงานวิจัยต่าง ๆ ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากที่รัฐให้การสนับสนุนในช่วง 3 ปีแรก ต่อจากนั้นกองทุนฯก็สามารถเลี้ยงตัวเองและให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีได้ในระยะยาว

สำหรับ รูปแบบการดำเนินการ ส.อ.ท. จะจัดตั้งมูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม โดยมีคณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน เข้ามาร่วมพิจารณาคัดเลือกเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการ โดยเอสเอ็มอีที่จะขอรับการสนับสนุนจะต้องเป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีกระบวนการผลิตสินค้า , เป็นนิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นที่เป็นสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 51% , มีความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจนวัตกรรมให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการให้การสนับสนุน , ไม่เป็นผู้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน อืนในโครงการเดียวกันในระหว่างการยื่น ข้อเสนอโครงการนวัตกรรมจนถึง พิจารณาโครงการ เว้นแต่ทุนนั้นเป็น ค่าใช้จ่ายที่ไม่ซ้้าซ้อนกับค่าใช้จ่ายที่ขอรับ การสนับสนุนจากกองทุน และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

161494378915

ส.อ.ท. คาดว่าเงินทุน 2 พันล้านบาทในช่วงแรกจะช่วยเอสเอ็มอีได้ 500 – 1,000 ราย และเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 5 เท่า ส่วน สิทธิประโยชน์ที่บริษัทขนาดใหญ่ที่ให้การสนับสนุนเงินทุนกับกองทุนฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี , สิทธิในการพิจารณาให้ร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนฯก่อนบริษัทอื่น และสามารถกำหนดโจทย์ความต้องการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม