เปิดแผนลดทุน-เพิ่มทุน 'การบินไทย' เดิมพันอนาคตธุรกิจ
"การบินไทย" เล็งปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุน หนุนทุนจดทะเบียนใหม่กว่า 2 แสนล้าน ด้านนักวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง ต้องคุมเข้มลดค่าใช้จ่าย เหตุธุรกิจท่องเที่ยวยังฟื้นไม่เต็มสูบ
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีมากกว่า 1 สัปดาห์แล้ว โดยภายใต้แผนฟื้นฟูดังกล่าว นอกจาก นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ในฐานะหัวเรือใหญ่ฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ ได้ระบุถึงกลยุทธ์ในการนำพาการบินไทยพลิกทำกำไรในปี 2567
ยังออกมายอมรับด้วยว่า ฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในครั้งนี้ จะต้องเร่งหา "เงินทุน" เข้ามาเสริมสภาพคล่อง เพราะกระแสเงินสดในมือ ปัจจุบันเหลือใช้เพียงพอถึงเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งจะสอดล้องไปกับไทม์ไลน์ที่การบินไทยคาดว่าแผนฟื้นฟูกิจการจะได้รับอนุมัติจากเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลาง
ขณะที่นายชาย เอี่ยมศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย เผยว่า แผนการปรับโครงสร้างหนี้ของการบินไทย จะไม่ขอลดมูลค่าหนี้คงค้าง (แฮร์คัท) แต่จะเป็นการปรับผ่อนจ่ายยืดหนี้ออกไป อีกทั้งการแปลงหนี้เป็นทุนถือเป็นออฟชั่นเสริม ส่วนการเพิ่มทุนมีอยู่ในแผนอยู่แล้ว เพิ่มทุนหรือกู้เพิ่มขณะนี้ยังไม่ได้เจาะจง โดยในภาพรวมการบินไทยต้องหาแหล่งเงินเพิ่ม 5 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากการบินไทย เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า วงเงินสนับสนุนที่ต้องการ จากประมาณการทางเงิน การบินไทยต้องได้รับสนับสนุนเงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่ใน 2-3 ปี นับแต่วันที่ศาลเห็นชอบแผน ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยผู้บริหารแผนมีอำนาจใช้เงินทุน และ/หรือ วงเงินสินเชื่อใหม่เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งผู้บริหารแผนอาจดำเนินการใดๆ ดังต่อไปนี้
1.การขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนรายใหม่ ผู้ถือหุ้นเดิม บุคคลใดๆ เป็นจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน หากผู้บริหารแผนเห็นว่าหานักลงทุนรายใหม่ ผู้ถือหุ้นเดิม บุคคลใดๆ เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวน 2.5 หมื่นบาท อาจขอสินเชื่อใหม่ให้เต็มจำนวน 2.5หมื่นล้านบาท เพื่อให้การบินไทยมีสภาพคล่องพอ
2.ขอรับสนับสนุนสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ของการบินไทย บุคคลอื่นใด 2.5 หมื่นล้านบาท ในรูปแบบสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Loan) และ/หรือตราสารใดที่ผู้บริหารแผนเจรจากับผู้สนับสนุนทางการเงิน
โดยการคาดการณ์ผลการดำเนินงาน ในปี 2568 การบินไทยคาดว่าจะมีรายได้รวม 1.4 แสนล้านบาท (จาก 1.8 แสนล้านบาทในปี 2562 ก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด-19 และ 4.7 หมื่นล้านบาทในปี 2563) และคาดว่าการดำเนินงานจะเกิดกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10% (จากที่มีผลขาดทุนในปี 2562-63 ที่ 1.2-3.8 หมื่นล้านบาท)
ขณะที่การปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุน ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลเห็นชอบด้วยแผน การบินไทยจะทำการลดทุนจดทะเบียน โดยการตัดหุ้นที่ไม่ได้ออกและจำหน่าย และจะมีการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ เพื่อรองรับการสนับสนุนเงินทุนในช่วง 2-3 ปีแรกของการดำเนินงานตามแผน และเพื่อรองรับการชำระหนี้ โดยการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้หุ้นกู้และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน
สำหรับการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนของการบินไทย ทุนจดทะเบียน 2,699 ล้านหุ้น (มูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อหุ้น) คิดเป็นจำนวนเงิน 26,989 ล้านบาท การลดทุนจดทะเบียน 516 ล้านหุ้น เป็นจำนวนเงิน 5,161 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนหลังการลดทุน จะอยู่ที่ 2,183 ล้านหุ้น คิดเป็นจำนวนเงิน 21,828 ล้านบาท หลังจากนั้นจะทำการเพิ่มทุนจดทะเบียน 19,645 ล้านหุ้น คิดเป็นจำนวนเงิน 196,449 ล้านบาท จะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนใหม่ เป็น 21,828 ล้านหุ้น คิดเป็น 218,277 ล้านบาท
โดยการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน จะแบ่งออกเป็น
1. นักลงทุนรายใหม่ และ/หรือผู้ถือหุ้นเดิม และ/หรือบุคคลใดๆ เพื่อสนับสนุนเงินทุน 2-3 ปี นับแต่วันที่ศาลเห็นชอบแผน จำนวนหุ้นไม่เกิน 6,473 ล้านหุ้น ราคาเสนอขาย 3.8624 บาทต่อหุ้น จำนวนเงิน 25,000 ล้านบาท
2. เพื่อชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้หุ้นกู้ จำนวนหุ้นไม่เกิน 11,877 ล้านหุ้น ราคาเสนอขาย 3.8624 บาทต่อหุ้น จำนวนเงิน 45,875 ล้านบาท
3. เพื่อชำระหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้สถาบันการเงิน จำนวนหุ้นไม่เกิน 1,295 ล้านหุ้น ราคาเสนอขาย 3.8624 บาทต่อหุ้น จำนวนเงิน 5,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตัวชี้วัดความสำเร็จของแผนฟื้นฟู เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
1. ได้รับเงินเพิ่มทุน/สินเชื่อใหม่และได้แปลงหนี้เป็นทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดในแผนในจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ
2. ดำเนินการชำระหนี้ตามเงื่อนไขในแผน โดยไม่เกิดเหตุผิดนัดได้ติดต่อกัน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลมีเงื่อนไขคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
3. มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) หลักหักเงินสดจ่ายหนี้ตามสัญญาเช่าเครื่องบินไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในปีก่อนหน้าที่จะรายงานศาลถึงผลสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการ
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมความเห็นจากนักวิเคราะห์ต่อแผนฟื้นฟูของการบินไทย ดังนี้
- สำหรับแผนการฟื้นฟูการดำเนินงานของการบินไทยในครั้งนี้มีความชัดเจนกว่าในอดีตที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเข้าสู่กระบวนการของศาล ตาม พรบ. ล้มละลาย
- สิ่งที่ต้องติดตาม คือ รายละเอียดและขั้นตอนของแผนฟื้นฟูการดำเนินงานที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พ.ค. 2564
- ปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพคล่องทางการเงิน : บริษัทยังมีความเสี่ยงหากไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ตามแผน หากพิจารณาจากลักษณะโครงสร้างต้นทุนที่ส่วนใหญ่เป็นแบบแปรผันและความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก บริษัทจะได้รับเงินสดใหม่เพียง 5 หมื่นล้านบาท จากการเพิ่มทุนและกู้เงิน ในขณะที่คาดว่าจะเริ่มมีกำไรในปี 2567 และมี EBIT 1.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2568 เพื่อไปชำระคืนหนี้ ซึ่งยังเป็นช่วงที่คาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และอาจมีความเสี่ยงจากการแข่งขันที่รุนแรงจากสายการบินอื่นเพื่อความอยู่รอด
- ปัจจัยเสี่ยงต่อเจ้าหนี้ : การบินไทยไม่ได้มีการขอลดมูลค่าหนี้คงค้าง (แฮร์คัท) แต่ขอปรับผ่อนจ่ายยืดหนี้ออกไป ซึ่งเวลาที่จะเริ่มชำระหนี้จะขึ้นอยู่กับประมาณการกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปกติของการบินไทย ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยน แปลงได้ท่ามกลางภาวะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งนี้ตามแผน พบว่า มูลหนี้ที่ต้องชำระคืนโดยใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ประมาณ 8.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 20% ของหนี้สินทั้งหมด ในขณะที่หนี้หุ้นกู้มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท จะถูกขยายเวลาไถ่ถอน ลดดอกเบี้ยเหลือ 1.5% หรือแปลงเป็นทุน (10-50%) ที่ 3.8624 บาท
- ปัจจัยเสี่ยงต่อผู้ถือหุ้นเดิม : การเพิ่มทุนตามแผนการฟื้นฟูกิจการมี dilution effect จำนวนมาก ระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูการดำเนินงานและการฟื้นตัวของการดำเนินงานที่ยั่งยืนอาจจะไม่เป็นไปตามประมาณการของการบินไทย ท่ามกลางภาวะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ไม่เอื้ออำนวย และการไม่ได้มีการขอลดมูลค่าหนี้คงค้าง (แฮร์คัท)