จัดพอร์ต Healthcare ตามเทรนด์มหาอำนาจ
ธุรกิจที่มีนวัตกรรมด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น Biotechnology หรือ Digital Healthcare มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องมากกว่าธุรกิจยาแบบดั้งเดิม จึงเป็นจังหวะที่ดี หากนักลงทุนที่กำลังถือลงทุนในกลุ่ม Pharmaceutical
หนึ่งในนโยบายของประเทศมหาอำนาจจาก 2 ซีกโลกซ้ายและขวา อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา และ จีน ในปี 2021ที่ให้ความสำคัญอย่างชัดเจนเหมือนกันเรื่องหนึ่ง คือ นโยบายผลักดันให้ประชากรสามารถเข้าถึงการรักษาโรคร้ายแรงได้มากขึ้น และช่วยส่งเสริมให้ขั้นตอนการรักษาโรคเหล่านี้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยฝั่งสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ให้ความสำคัญกับการต่อสู้โรคมะเร็งอย่างมาก เนื่องจากเขาเสียลูกชายจากโรคนี้ไปเมื่อปี 2015 ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ มีสำนักงานโครงการวิจัยด้านสุขภาพขั้นสูง หรือ HARPA ซึ่งมีต้นแบบมาจากสำนักงานโครงการวิจัยด้านการป้องกันประเทศขั้นสูง หรือ DARPA ซึ่งผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่าเทคโนโลยีการทหารของสหรัฐฯ ล้ำหน้ากว่าทุกประเทศบนโลก ดังนั้น HARPA อาจช่วยให้ระบบสุขภาพภายในสหรัฐฯ ก้าวกระโดดอย่างมาก ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มี เพื่อเร่งศึกษาและทำความเข้าใจในโรคที่มนุษย์รู้จักกว่า 9,000 โรค แต่มีองค์ความรู้ในการรักษาเพียง 500 โรคเท่านั้น
ในขณะที่ฝั่งจีน ได้ออกแผน Healthy China Plan 2030 โดยมุ่งหวังปฏิรูประบบสาธารณสุขระยะยาวภายในประเทศ ทั้งในด้านสนับสนุนให้ประชากรมีประกันสุขภาพ สนับสนุนงานวิจัยเพื่อป้องกัน วินิจฉัยและรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ และเร่งรัดการอนุมัติยาที่วิจัยสำเร็จแล้วให้นำไปใช้ได้จริงอย่างรวดเร็วมากขึ้น สาเหตุที่จีนเริ่มตระหนักถึงเรื่องสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากเห็นว่า โครงสร้างประชากรจีนที่มีโอกาสเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ประชากรจีนมีโอกาสที่จะป่วยและเสียชีวิตจากโรคยอดนิยมอย่าง โรคหัวใจ, เบาหวาน แม้กระทั่งโรคมะเร็งอย่างที่สหรัฐฯ เผชิญมาก่อนแล้ว โดยงานวิจัยของ WHO ระบุว่าในปี 2018 จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในจีนแตะ 4.3 ล้านคน หรือประมาณ 307 คนต่อประชากร 1 แสนคน แต่ที่น่าห่วงคืออัตราการเสียชีวิตถึง 204 คนต่อประชากร 1 แสนคน หรือ กว่า 66% ที่จะเสียชีวิตเมื่อถูกตรวจพบเป็นมะเร็ง และมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น หากจีนไม่หาวิธียับยั้งโรคที่คร่าชีวิตผู้สูงอายุมากที่สุดโรคหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งถือว่าเป็นตัวอย่างของโรคที่มีความซับซ้อนของโรคอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นชนิดของมะเร็ง หรือตำแหน่งของมะเร็ง ระยะของโรค รวมถึงการตอบสนองต่อยาของแต่ละบุคคล วิธีการรักษาจึงมีความซับซ้อนเช่นกัน ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการแพทย์ที่จะช่วยปลดล็อคให้มนุษย์มีความเข้าใจโรคและสามารถคิดค้นเครื่องมือ หรือ ยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาสาเหตุที่เกิดโรคร้ายต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ วิธีการตรวจพบที่รวดเร็วและแม่นยำ และการคิดค้นยารักษาเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) เพื่อให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาให้ดีที่สุดและมีผลข้างเคียงต่อการรักษาให้ต่ำที่สุด เป็นต้น
สำหรับธุรกิจเฮลธ์แคร์ที่อาจมีบทบาทอย่างมากต่อการผลักดันนโยบายด้านสุขภาพของทั้ง 2 ประเทศคงหนีไม่พ้นกลุ่มดิจิตอลเฮลธ์แคร์ (Digital Healthcare) ที่เน้นการพัฒนาเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาวิธีการตรวจพบที่แม่นยำ เช่น การตรวจหามะเร็งจากเลือดแทนการตรวจชิ้นเนื้อในผู้ป่วยระยะแรกได้ หรือ การตรวจสารพันธุกรรม หรือ DNA ด้วยการจัดเรียงและค้นหารูปแบบพันธุกรรมมะเร็งในร่างกาย เพื่อค้นหาชนิดและตำแหน่งของมะเร็งให้ชัดเจน หรืออีกกลุ่มธุรกิจอย่างเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) โดยการคิดค้นยาที่มีต้นกำเนิดจากสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา เช่น การคิดค้นยาภูมิคุ้มกันบำบัด โดยผลิตยาจากเซลล์ของผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวต่อสู้กับมะเร็งได้ และลดผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมี หรือการสร้าง Personalized Medicine
ในขณะที่ธุรกิจยาแบบดั้งเดิมหรือกลุ่ม Pharmaceutical ที่เคยได้รับความนิยมในด้านการลงทุนช่วงในอดีตอาจไม่มีบทบาทในเรื่องดังกล่าวมากแล้ว ถึงแม้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ผลิตยารักษาโดยอาศัยสารเคมีในการผลิตเท่านั้น แต่แนวโน้มของนวัตกรรมการรักษาเริ่มให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและการลดผลข้างเคียงในการรักษาเป็นสำคัญ ซึ่งตัวยาที่มียอดขายทั่วโลก 100 อันดับแรกในปี 2019 มีต้นกำเนิดการผลิตด้วย Biotechnology กว่า 53% ซึ่งมากกว่าการผลิตแบบดั้งเดิมไปแล้ว ยิ่งตอกย้ำอนาคตของวงการแพทย์ว่า แนวโน้มของธุรกิจที่เน้นการผลิตยาแบบดั้งเดิมหรือ Pharmaceutical อาจไม่สดใสเมื่อเทียบกับยาที่มาจาก Biotechnology
ดังนั้น หากเราพิจารณาถึงทิศทางของผู้นำประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ซีกโลกที่ให้ความสำคัญกับการรักษาโรคเรื้อรัง และมีโอกาสเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง 'มะเร็ง' ธุรกิจที่มีนวัตกรรมด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น Biotechnology หรือ Digital Healthcare มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องมากกว่าธุรกิจยาแบบดั้งเดิม จึงเป็นจังหวะที่ดี หากนักลงทุนที่กำลังถือลงทุนในกลุ่ม Pharmaceutical ในปัจจุบัน จะปรับเปลี่ยนการลงทุนให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของผู้นำมหาอำนาจของโลกเพื่อสร้างผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนกลุ่ม Healthcare ให้เร่งตัวขึ้นได้
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ AFPTTM Wealth Manager