ธปท.หวัง มาตรการทางการเงิน ช่วยพยุง 'เอสเอ็มอี'ยาว2ปี
ธปท. ชี้สองมาตรการทางการเงิน เริ่มขอกู้ จากธปท.ได้แล้วตั้งแต่ 26 เม.ย.นี้ หวังช่วยเอสเอ็มอีผ่านพ้นวิกฤต
ประกาศอย่างเป็นทางการสำหรับมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อช่วยภาคธุรกิจ หลังพ.ร.ก.มาตรการฟื้นฟู มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมครั้งนี้ มีด้วยกัน 2 มาตรการด้วยกัน คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ(สินเชื่อฟื้นฟู)วงเงินไม่เกิน 2.5 แสนล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้(โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 1 แสนล้านบาท
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ทั้ง 2 โครงการนี้ จะเริ่มเปิดให้ สถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อกับธปท.รอบแรกได้ตั้งแต่ 26 เม.ย.เป็นต้นไป
“สุวรรณี เจษฎาศักดิ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า หลักการก็เพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟูภาคธุรกิจ จากปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง และภายใต้โควิด ที่เกิดขึ้นหลายระลอก จะยิ่งซ้ำเติมภาคธุรกิจให้เดือดร้อนมากขึ้น
ดังนั้นมาตรการครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการสร้างความยืดหยุ่น และครอบคลุมการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งเติมสภาพคล่อง และพักทรัพย์พักหนี้ ที่จะช่วย “ตอบโจทย์” ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้น และระยะยาวมากขึ้น
ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ จะเริ่มเปิดให้แบงก์เริ่มยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่ 26 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดการณ์ว่า ช่วงแรกๆที่เปิดให้ขอกู้ อาจไม่เห็นการขอสินเชื่อเร็วนัก เพราะสินเชื่อทั้ง 2 โครงการทั้งธนาคาร และลูกหนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมพร้อม ดังนั้นเชื่อว่าจะเริ่มเห็นสินเชื่อทยอยเข้าสู่ระบบต่อเนื่องยาวถึง 2 ปี
โดยเฉพาะ มาตรการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟู ที่คาดว่าจะช่วยเติมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าแรงงาน ค่าสาธารณูปโภค ในช่วงระยะเริ่มต้น และระยะสองคือ การใช้สำหรับการเปิดธุรกิจ ที่ปิดไปชั่วคราว จากผลกระทบไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่หรือโควิด-19 และคาดจะใช้เวลา 18-24 เดือน ข้างหน้าให้ภาคธุรกิจกลับมาดำเนินธุรกิจปกติ ดังนั้นก็อาจต้องการเงินฟื้นฟูกิจการบางส่วน
“มาตรการ ภาพใหญ่ของมาตรการ ช่วยเหลือพรก.ฟื้นฟูครั้งนี้ตอบโจทย์ และเน้นช่วยลูกหนี้ธุรกิจ แต่ก็ไม่ใช่ยาขนาดวิเศษในการแก้ปัญหาโควิดให้หมดไปได้ ดังนั้นจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน และต้องอาศัยหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือจากผลกระทบครั้งนี้”
โดยหลักเกณฑ์ในเบื้องต้นของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู หลักๆ คิดอัตราดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน 0.01% ต่อปี เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในอัตราไม่เกิน 5% ต่อปี มีระยะเวลากู้ 5 ปี โดย 2 ปีแรกคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี ซึ่งมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมจะค้ำประกันไม่เกิน 40%
ลูกหนี้เดิมที่เคยกู้กับสถาบันการเงินอยู่แล้วขอกู้ได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินในแต่ละสถาบันการเงิน แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท ให้นับรวมซอฟท์โลนรอบแรกด้วย ส่วนลูกหนี้รายใหม่ขอกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้มากขึ้น
สำหรับธุรกิจที่จะเข้าใช้มาตรการเหล่านี้ ต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในไทย และไม่เป็นเอ็นพีแอล ก่อนวันที่ 31 ธ.ค. 2562 เพราะโครงการนี้ เน้นช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกะทบจากโควิด -19 ในช่วงต้นปี 2563 เป็นต้นมา แต่หากเป็นเอ็นพีแอลหลังจากนั้น ก็สามารถเข้าโครงการได้
“ทั้งนี้มาตรการนี้ เรากำหนดว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ จะไม่เข้าเงื่อนไขนี้ เพราะอยากเก็บเงินไว้ให้เอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีในตลาด MAI ก็สามารถเข้าโครงการได้ด้วย”
ถัดมา คือ มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) ในวงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท
โครงการนี้จะเน้นช่วยลูกหนี้ที่มีภาระหนัก และต้องเป็นลูกหนี้ที่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ผลประโยชน์จะทำให้ลูกค้าลดต้นทุนภาระทางการเงินชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้ดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต
เงื่อนไขของโครงการนี้ หลักๆคือการรับโอนทรัพย์สินต้องมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิซื้อทรัพย์สินคืนภายในเวลาที่ตกลงกัน แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี และลูกหนี้สามารถเช่าทรัพย์กลับมาดำเนินธุรกจิต่อได้ โดยแจ้งความประสงค์กับสถาบันการเงินภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ที่สถาบันการการเงินรับโอนทรัพย์
หลักเกณฑ์ในโครงการนี้ เกี่ยวกับการ “ซื้อคืน” เบื้องต้น ราคาที่ซื้อคืนจะต้องไม่เกิน ราคาที่แบงก์รับโอนไป โดยแบงก์จะสามารถคิดค่าใช้จ่าย การเก็บรักษาทรัพย์ ไม่เกิน 1% ต่อปี รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพื่อไม่เป็นการเพิ่มต้นทุน และเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถซื้อทรัพย์คืนได้ง่ายขึ้น
ท้ายที่สุดธปท.หวังว่า โครงการนี้จะมีส่วนช่วยผู้ประกอบการได้ค่อนข้างมาก ทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงลดภาระเงินต้นและดอกเบี้ย ช่วยประคองรักษาการจ้างงาน และเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดกิจการได้ในอนาคต
อีกทั้งจะทำให้ทรัพย์ไม่ถูกกดราคา จนทำให้ราคาในตลาดโดยรวมลดลง และจะส่งผลดี และช่วยประคองเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ให้ผ่านพ้นวิกฤติ และความไม่แน่นอนจากผลกระทบลูกใหญ่จากโควิดระลอกใหม่นี้ได้
ไม่เพียงแค่นั้น จากผลกระทบโควิดระลอก ที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น และยังคงแพร่ระบาดเป็นวงกว้างนั้น ธปท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบในด้านต่างๆด้วย และ “พร้อม” ที่จะออกมาตรการช่วยเหลือที่จำเป็นเพิ่มเติมจากมาตรการฟื้นฟูฯในครั้งนี้ด้วย
รวมถึงธปท.ยังได้ติดตาม การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหารือกับผู้ให้บริการทางการเงิน สมาคม ชมรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยผ่านมาตรการการให้ความช่วยเหลือและมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้อย่างต่อเนื่อง