เอกชนกว่า 2 พันบริษัทแห่จองวัคซีนทางเลือก
หอการค้าไทย รายงานแผนการจัดซื้อและกระจายวัคซีนให้นายกฯ เผยยอดจองซื้อวัคซีนทางเลือกของเอกชน 2,629 บริษัท พร้อมเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้รายงานความคืบหน้าการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีน และการวางระบบการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะใช้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่นำร่อง รวมทั้งความร่วมมือต่าง ๆ กับภาคธุรกิจเอกชน ที่มีความคืบหน้าไปมากพอสมควร ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะฯ ได้รับทราบ โดยภาครัฐยินดีให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม โดยทำงานเป็นทีมประเทศไทยด้วยกัน ทำงานคู่ขนานไปด้วยกัน
ทั้งนี้นายกฯ ได้สั่งการ ตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 คณะ ทั้งภาครัฐ และหอการค้าไทย ถึง แผนการกระจายวัคซีน และวัคซีนทางเลือกของหอการค้าไทย รวมถึงการปรับกฎหมายต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนได้รวดเร็ว โดยมีความคืบหน้า คือ 1.TEAM Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีนระยะแรก ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่นำร่องเสนอ กทม. 66 แห่ง โดยผ่านการคัดเลือก 14 แห่งกระจายทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ 2 จุด กรุงเทพใต้ 4 จุด กรุงเทพตะวันออก 3 จุด กรุงธนเหนือ2 จุด และกรุงธนใต้ 3 จุด ซึ่งจะมีทั้งสถานที่ที่เป็นศูนย์การค้า สำนักงาน และสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งสถานที่ทั้ง 14 แห่งดังกล่าว จะรองรับประชาชนได้ประมาณ 1,000-2,000 คนต่อวัน รวมแล้วสามารถให้บริการได้วันละ 20,500 คน ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมการให้บริการของกรุงเทพมหานคร
ระยะถัดไป จะหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ตามชุมชน และบริษัทต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมีภาคเอกชนสนใจให้การสนับสนุนหลายแห่ง โดยจะนำต้นแบบ (Best Practice) ของพื้นที่เอกชนร่วมกับกรุงเทพฯ กระจายผ่านหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยบริหารจัดการสถานที่ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งภาครัฐได้ยินดีและขอบคุณที่ภาคเอกชนเข้ามาเสริม เพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลที่ต้องรับผู้ป่วยปกติด้วย โดยจะทำแผนงานร่วมกันทั่วทั้งประเทศ
2.TEAM Communication ทีมการสื่อสาร สนับสนุนการทำงานด้านการสื่อสารของภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะเน้น ความสำคัญของการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง และอัพเดทข้อมูลที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลทางการของภาครัฐตั้งทีมคณะทำงานประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ 20 บริษัท เพื่อระดมทรัพยากรและช่องทางการสื่อสาร อาทิ LINE, Google, Facebook, VGI, CP และบริษัทอื่นๆ ยินดีให้การสนับสนุนด้านการสื่อสารอย่างเต็มกำลังทั้ง Online และ Offline
3.TEAM IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียนและลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ในศูนย์ปฏิบัติการของภาคเอกชน โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุน ได้มีการหารือถึง solution ที่ควรจะเป็น เพื่อลดขั้นตอนระยะเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพหลังจากการสำรวจพื้นที่ ศึกษา “หมอพร้อม” เบื้องต้น และทำความเข้าใจขั้นตอนการฉีดวัคซีน ได้ทำหน้าที่เสนอแนวทางการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มความรวดเร็ว แม่นยำ ตลอดจนการนำเสนอ Best Practice ต่างๆ มาเป็นข้อมูล และให้การสนับสนุนทีมอื่นๆ หลายบริษัทที่เสนอตัวว่ามี Application ในลักษณะที่น่าจะนำมาประยุกต์ได้ เช่น กลุ่มปาร์คนายเลิศเป็นลักษณะการลงทะเบียนและการจองคิว ซึ่งสามารถเปลี่ยนจาก Web Application เป็น mobile app ได้ รวมถึงการเสนอตัวของ QueQ, Line Application และ Grab
4.TEAM Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยสำรวจความต้องการภาคเอกชนผ่านทางการทำแบบสอบถาม โดยให้บริษัทเอกชนแสดงความประสงค์ในการได้วัคซีน ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ปัจจุบันมีผู้แจ้งความต้องการ 2,629 บริษัท จำนวนพนักงาน 921,817 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28/4/2564) ซึ่งจะนำส่งให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรวัคซีนต่อไป
“นอกจากแผนการกระจายวัคซีนที่ภาคเอกชนจะไปสนับสนุนภาครัฐนั้น เรายังได้มีการหารือถึงแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปอีกด้วย ทั้งเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ” นายสนั่น กล่าว
นายสนั่น กล่าวว่า ทางหอการค้าได้เสนอแผนที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ได้ทดลองทำ Sand box ของกลุ่มค้าปลีกและทางธนาคารมาแล้ว เพื่อให้ SMEs เข้าถึง Soft Loan โดยพร้อมที่จะขยายผลต่อไป นอกจากนั้น จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการ HUG THAIS ฮักไทย Love Thais, Help Thais “รวมใจ ไทยไม่ทิ้งกัน” โดยกระตุ้นภาคเอกชนและภาคประชาชนในการอุดหนุนสินค้าไทย และธุรกิจของผู้ประกอบการคนไทย รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทางภาครัฐได้ให้ความมั่นใจว่า ภาครัฐได้มีการเตรียมการช่วยเหลือ SMEs ไว้ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, การทำสินเชื่อ Factoring, Soft Loan, พักทรัพย์พักหนี้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งโครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งคืน และอีกหลายโครงการที่สามารถเสริมกันได้อย่างแน่นอน และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอภาคเอกชนเพื่อปรังปรุง กฎหมาย กฎระเบียบให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้สะดวก เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศในลำดับถัดไป