กกพ.จ่อถก พ.ค.นี้ คลอดใบอนุญาต 'ชิปเปอร์แอลเอ็นจี' รายใหม่เพิ่มเติม
บอร์ด กกพ. คาด พิจารณาออกใบอนุญาต “ชิปเปอร์แอลเอ็นจี” รายใหม่เพิ่มเติม ช่วง พ.ค.นี้ พร้อมเสนอ กพช. ไตรมาส 2 วางเกณฑ์ราคาอ้างอิงนำเข้าก๊าซ ด้าน กฟผ. เล็งเปิดประมูลจัดซื้อแอลเอ็นจีล็อตใหม่ มิ.ย. – ส.ค.นี้ เริ่มนำเข้าไตรมาส 4
แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กกพ.ในช่วงเดือนพ.ค.นี้ เตรียมพิจารณาออกใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) ให้กับรายใหม่ๆที่ยื่นเรื่องมายัง กกพ. เพิ่มเติม จากที่ปัจจุบันได้ออกใบอนุญาตไปแล้ว 5 ราย และที่ยื่นเสนอเข้ามาใหม่อีก 3-4 เช่น กลุ่ม ปตท.,กลุ่ม เอสซีจี และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เป็นต้น ซึ่งการพิจารณาออกใบอนุญาตฯ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่สำคัญต้องดูว่า เมื่อได้รับใบอนุญาตไปแล้วจะดำเนินการได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็จะเป็นผลเสียกับขอผู้รับใบอนุญาตฯเอง ขณะที่ประเทศไทย มีแนวโน้มจะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้น เพื่อมาทดแทนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยและก๊าซจากเมียนมาที่จะลดลงในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ กกพ. จะต้องดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ราคาอ้างอิงการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สำหรับผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper) รายใหม่ที่ จะนำเข้า LNG เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและกิจการของตนเอง ได้เสร็จสิ้นประมาณเดือน มิ.ย.นี้ และจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาตามในไตรมาส 2 ต่อไป
ด้านนางราณี โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ทบทวนแผนการนำเข้าLNG ใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด LNG ในปัจจุบัน จากแผนเดิมที่มีระยะเวลา 3 ปี (2564 – 2566) เป็นการจัดหา LNG ในสัญญาระยะกลาง 5 - 7 ปี วงเงินงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
“ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมการนำเข้า LNG คาดว่าจะเปิดให้มีการประมูลราคาผู้จัดหาและนำเข้า LNG ให้กับ กฟผ. และนำเสนอคณะกรรมการ กฟผ. พิจารณาประมาณเดือนมิ.ย. – ส.ค.นี้”
กฟผ.หวังว่า จะเริ่มนำเข้า LNG ล็อตใหม่ในไตรมาสที่ 4 นี้ ที่ปริมาณเฉลี่ยประมาณ 3 แสนตัน โดยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป คาดว่าจะนำเข้า LNG ในปริมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกงทดแทน
ทั้งนี้ ประเทศไทย มีผู้ได้รับใบอนุญาต LNG Shipper อยู่ 5 ราย ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ที่เดิมเป็นผู้นำเข้าก๊าซฯแต่เพียงรายเดียว ปัจจุบัน มีโควตานำเข้า LNG ภายใต้สัญญาระยะยาว ปริมาณรวม 5.2 ล้านตันต่อปี ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับสิทธิทดลองนำเข้า LNG รูปแบบตลาดจร(Spot) 2 ปริมาณรวม 1.3 แสนตัน และในอนาคตยังมีแผนจะนำเข้าอีกกว่า 5 ล้านตันในช่วง 3 ปี (ปี2564-2566) ,บริษัท กัลฟ์ แอลเอ็นจี จำกัด ในเครือ GULF มีแผนนำเข้าปริมาณ 3 แสนตันต่อปี ,บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) มีแผนนำเข้าปริมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี ,บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM มีแผนนำเข้าปริมาณ LNG ปริมาณ 6.5 แสนตันต่อปี และยังอยู่ระหว่างยื่นขอขยายปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 บริษัท ที่อยู่ระหว่างยื่นขอรับใบอนุญาต LNG Shipper ต่อ กกพ. คือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO มีแผนนำเข้าปริมาณ 2 แสนตันต่อปี และอีก 2 บริษัท คือ กลุ่มเอสซีจี และกลุ่ม ปตท. ซึ่งยังไม่เปิดเผยปริมาณการนำเข้าที่ชัดเจน