ทูตเกษตร ชี้ สหรัฐเอดียางไทย ทำส่งออกลด แถมผู้ประกอบการไทยเตรียมย้ายหนี

ทูตเกษตร ชี้ สหรัฐเอดียางไทย ทำส่งออกลด แถมผู้ประกอบการไทยเตรียมย้ายหนี

ทูตเกษตร ชี้ส่งออกยางพาราในตลาดสหรัฐมีแนวโน้มลดลง หลังประกาศใช้ภาษีทุ่มตลาด เหตุจีนย้ายฐานมาไทย ลุ้นผลตัดสิน13 พ.ค.นี้อีกครั้ง ขณะผู้ประกอบการยางล้อแห่ย้ายหนี แนะศักยภาพใช้ถุงมือสู้ พร้อมร่วม CPTPP เพิ่มการแข่งขัน

รายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เปิดเผยว่า แนวโน้มโครงสร้างและสถานการณ์การส่งออกสินค้ายางและผลิตภัณฑ์ของไทยในตลาดสหรัฐฯมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกเดือนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สาเหตุมาจากการที่สหรัฐ กำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือ Anti-Dumping (AD)ทำให้จีนย้ายฐานการผลิตมายังไทยและส่งออกในนามประเทศไทย

     โดยในปี 2563มูลค่าการส่งออกของไทยลดลงในเดือนพ.ค.-ก.ค. เพราะการระบาดของโรคโควิด 19 จากนั้นการส่งออกของไทยไดเ้เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องและสูงสุดในเดือนพ.ย.และ ธ.ค. มาจากการกักตุนสินค้าก่อนที่คาดว่าสหรัฐฯจะประกาศมาตรการ AD ต่อในเดือนธ.ค.โครงสร้างสินค้าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ของไทยในสหรัฐฯ ที่สร้างรายได้กว่า 85% จากมูลค่าการส่งออกปี63  ได้แก่ ยางรถยนต์สำหรับรถยนต์นั่ง33% ยางรถเพื่อการพาณิชย์ 29% ถุงมือยาง 14% ถุงมือใช้ในทางศัลยกรรม 4% ยางธรรมชาติที่กำหนดไว้ในทางเทคนิค 4%

           เมื่อพิจารณาเรื่องการขยายตัว (Growth Rate) ของสินค้าดังกล่าวที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดเพราะการย้ายฐานจากจีนมาไทย นั้น ส่งผลให้ สถานการณ์การส่งออกของไทยออกของไทยในปี2564 เริ่มไม่แน่นอน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ประกาศเรียกเก็บ อากรตอบโต้การทุ่มตลาดขั้นต้นเป็นการชั่วคราวสำหรับยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคลและ ยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก(Light Truck)จากไทยในอัตรา13.25-22.21% และจากอีก3แหล่งนำเข้า ได้แก่เวียดนาม เกาหลีใต้และไต้หวัน ตั้งแต่วันที่6 ม.ค. 2564เป็นต้นไป และมีกำหนดประกาศผลการไต่สวน AD ขั้นสุดท้ายภายใน วันที่ 13 พ.ค. 2564 หากประเทศไทยถูกตัดสินว่าผิดจริง 70% ของสินค้าล้อจากไทยจะถูกเรียกเก็บภาษี เพิ่มขึ้น

“การส่งออกสินค้ายางพาราของไทยในตลาดสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต หากถูกตัดสินว่ามีการทุ่มตลาดจริง โดยรายชื่อบริษัทผู้ส่งออกล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็ก จะพบว่า บริษัทผู้ผลิตยางล้อรถจากไทยเป็นกลุ่มผู้นำของแหล่งนำเข้าสินค้ายางของประเทศสหรัฐฯหลายบริษัท โดยเฉพาะ ซูมิโตโม รับเบอร์(ไทยแลนด์) ที่ถือเป็นผู้นำเข้ายางล้อ พิกัด 4011.10 และ 4011.20 อันดับที่ 1 ในสหรัฐฯ และบริษัทแอลแอลไอที(ประเทศไทย) ที่เป็นอันดับ 3

 

การเก็บภาษีอากรตามมาตรการ ADอาจจะทำให้สินค้าจากบริษัทฯ เหล่านี้สูญเสียความได้เปรียบในแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีการเก็บภาษีที่ต่ำกว่า เช่น มาเลเซีย ที่ไม่ต้องเสียภาษีอากร AD เวียดนาม ที่มี 9 บริษัทยังได้รับการยกเว้นภาษีอากรเป็นระดับ 0%) และอินโดนีเซีย ไม่ต้องเสียภาษีอากร AD อีกทั้งประเทศเหล่านี้ยังมีจุดแข็ง คือวัตถุดิบมีคุณภาพดีและราคาถูกสำหรับการผลิตยางล้อ เช่นเดียวกับประเทศไทย แต่การส่งออกจากประเทศเหล่านี้ ยังไม่ต้องเสียภาษีอากรตามมาตรการ AD ในระดับสูง

           ดังนั้น การที่บริษัทผู้ส่งออก มีแหล่งผลิตในหลายประเทศ อาจเกิดการลดการผลิตในไทย และหันไปเพิ่ม การผลิตในประเทศอื่น ๆ แทน ตัวอย่างเช่น บริษัท Sumitomo North America INC ที่มีฐานการผลิตทั้งในไทย และอินโดนีเซีย สินค้าเดียวกันหากส่งออกจากไทยต้องโดนภาษีอากรตามมาตรการ AD แต่หากส่งออกจากอินโดนีเซียจะไม่ต้องเสียค่าภาษีอากรตามมาตรการ AD เป็นต้น หรืออาจมีการย้ายฐานผลิตอย่างถาวรหากในระยะยาวต้นทุนในการผลิตในประเทศไทยสูงเกินไป เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศจีน 

         แต่อย่างไรก็ตามสำหรับอัตราภาษีอากรตามมาตรการ AD ณ ปัจจุบัน ไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำหากเปรียบเทียบในกลุ่มประเทศที่ต้องจ่ายภาษีอากรตามมาตรการ AD ด้วยกัน เช่น ไต้หวัน เฉลี่ยประมาณ 88.82% เกาหลีใต้เฉลี่ยประมาณ 27.81% ขณะที่ ไทยจะจ่ายภาษีจากมาตรการ AD เฉลี่ยเพียง 16.6% ส่วนเวียดนามต้อง จ่ายภาษีตามมาตรการ AD เฉลี่ย 22.27% ยกเว้น 9 บริษัทของเวียดนามที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรการ AD

 

         

นอกจากนี้ความตกลงเขตการค้าเสรีComprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ที่มีสมาชิกรวม 11 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี สิงคโปร์ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู เวียดนาม และญี่ปุ่น จะทำให้ประเทศคู่แข่งไทยมีความได้เปรียบทางการค้ามากขึ้น และเพิ่มโอกาสการย้ายฐานการผลิตเนื่องจากมีสิทธิประโยชน์ระหว่างกันในการยกเลิกหรือลดภาษีนำเข้า ซึ่งสหรัฐฯ กำลังพิจารณากลับเข้าร่วม CPTPP จะ ยิ่งทำให้สถานการณ์การแข่งขันของไทยเสียเปรียบมากขึ้น เนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วมกับ CPTPP

          แนวทางรับมือกับปัญหาดังกล่าว ด้วยห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์ในประเทศอาจจะได้รับผลกระทบ เป็นลูกโซ่ จากความต้องการผลิตยางล้อในประเทศลดลง และส่งผลให้ความต้องการใช้วัตถุดิบเช่น ยางแผ่นและยางธรรมชาติ ลดลงตามไปด้วย และกระทบต่อเกษตรกรผู้ทำสวนยางโดยตรง

               ดังนั้น เพื่อบริหารความต้องการสินค้ากับปริมาณอุปทานยางที่มีให้เกิดความเหมาะสม ภาครัฐควรผลักดัน นโยบายที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่เกิดขึ้น เช่น นโยบายตลาดนำการผลิต ปรับลดปริมาณยาง ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดในขณะนั้น นโยบายการลดการปลูกสวนยางและส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นที่มี ศักยภาพมากว่า หากมีแนวโน้มว่าปริมาณความต้องการยางจะลดลง เพื่อลดความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงที่ กำลังเกิดขึ้น

            รวมทั้ง โอกาสของไทย สินค่ากลุ่มถุงมือยางและอุปกรณ์เวชภัณฑ์ ที่ใช้ยางในการผลิตเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบคู่แข่ง จากปัจจัยเรื่องแหล่งวัตถุดิบและโรงงานผลิต ประกอบกับนโยบายของ รัฐบาลชุดใหม่ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโจ ไบเดน ที่ต้องการหาแหล่งนำเข้าอื่นเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากจีน ประเทศไทยจึงอาจใช้จุดนี้เป็นโอกาสในการสนับสนุนสินค้ากลุ่มถุงมือยางและอุปกรณ์เวชภัณฑ์ที่ใช้ยาง ในการผลิต เพื่อทดแทนมูลค่า การส่งออกที่หายไปจากกลุ่มยางล้อรถของประเทศจีนในระยะยาว