GPSC ทุ่มกว่า3หมื่นล้าน ปิดดีล‘โรงไฟฟ้าใหม่’เสริมเสน่ห์การเติบโต
“หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า” ถือเป็นหลุมหลบภัยชั้นดีในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน ด้วยจุดเด่นเฉพาะตัวจากรายได้ที่แน่นอนตามสัญญาซื้อขายไฟที่ได้ทำไว้กับลูกค้า ทำให้ผลประกอบการแทบไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
แต่อีกมุมต้องยอมรับว่าการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้าค่อนข้างจำกัด เพราะในปัจจุบันการจะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ สภาพแวดล้อม ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เข้มงวดมากขึ้น จึงได้เห็นหลายๆ บริษัทเลือกที่จะฉีกแนว ไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างการเติบโตให้กับรายได้
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าจะหมดเสน่ห์ เพราะความต้องการใช้ไฟฟ้ายังมีอยู่มาก ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา แต่เทรนด์ที่มาแรงคงหนีไม่พ้น “พลังงานสะอาด” หรือ “พลังงานทดแทน”
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC บริษัทเรือธงในกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าของเครือปตท. สร้างความฮือฮาอย่างมาก ด้วยการประกาศ “บิ๊กดีล” เข้าซื้อโรงไฟฟ้า 2 โครงการ ใน 2 ประเทศ ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท
ประเดิมด้วยการเข้าซื้อหุ้น 41.6% ในบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ของอินเดีย ซึ่งได้มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวทั้งกับรัฐบาลและภาคเอกชนรวม 3,744 เมกะวัตต์
โดยขณะนี้มีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องขายไฟ (COD) แล้ว 1,392 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2,352 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะทยอย COD ตลอดปี 2564-2565 พร้อมตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 11,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ซึ่งดีลนี้ใช้เงินลงทุนไปทั้งหมดประมาณ 14,825 ล้านบาท
ถัดมาอีกไม่กี่ชั่วโมง เรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง หลังทุ่มงบลงทุนอีกราว 500 ล้านดอลลาร์ หรือ มากกว่า 16,000 ล้านบาท เข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ไต้หวัน กำลังการผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการ Changfang กำลังการผลิต 547 เมกะวัตต์ และ โครงการ Xidao อีก 48 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นกำลังการผลิตของบริษัทจำนวน 149 เมกะวัตต์ ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 25%
โครงการทั้งหมดจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 1 ปี 2567 โดยได้ทำสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี กับ Taiwan Power Company รัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลไต้หวัน และเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียวในไต้หวัน
การลงทุนทั้ง 2 ดีลนี้ของ GPSC ถือว่าน่าสนใจ ทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มที่อินเดีย ซึ่งสามารถทยอยรับรู้รายได้เข้ามาทันที เพราะมีโครงการที่ขายไฟแล้วจำนวน 1,392 เมกะวัตต์ ขณะที่อินเดียมีการใช้ไฟฟ้าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่า 1,300 ล้านคน ขณะที่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพลังงานสะอาด จึงทำให้อินเดียเป็นอีกตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก
ส่วนไต้หวันเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยี รัฐบาลให้ความสำคัญกับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเป็นอย่างมาก ขณะที่เทคโนโลยีพลังงานลมนอกชายฝั่ง ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่บริษัทได้เข้ามาลงทุน โดยจับมือกับมืออาชีพที่เชี่ยวชาญในด้านนี้จึงสบายใจได้
สำหรับการลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมดนี้จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 2,294 เมกะวัตต์ หรือ คิดเป็นสัดส่วน 34% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 6,761 เมกะวัตต์ และสอดรับแผนของกลุ่ม ปตท. ที่ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนให้ถึง 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573
ทั้ง 2 ดีล ถือเป็นปัจจัยหนุนต่อหุ้น GPSC นักวิเคราะห์แทบจะทุกสำนักพร้อมใจเชียร์ “ซื้อ” หุ้น GPSC ทันที อย่างบล.เคทีบีเอสที ได้ปรับประมาณการกำไรปกติปี 2565-2566 ขึ้นมาที่ 9.7 พันล้านบาท และ 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากเดิม 1% และ 2% ตามลำดับ มองว่าหุ้นยังคง Outperform ตลาดต่อไปจากการประกาศเข้าลงทุนในอินเดียและไต้หวัน ซึ่งจะทำให้ตลาดให้น้ำหนักกับแหล่งการเติบโตครั้งใหม่ซึ่งมีศักยภาพสูงเพิ่มเข้ามานอกจากการเติบโตไปกับกลุ่มปตท.