‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะรัฐเร่งทำ ‘vaccine swap’ หาวัคซีนเพิ่มรับมือโควิดกลายพันธุ์
"ทีดีอาร์ไอ" แนะรัฐทำสวอปวัคซีน เจรจาขอนำเข้าวัคซีนจากประเทศอื่นที่มีวัคซีนอยู่ก่อน แล้วส่งคืนให้เมื่อเราได้รับวัคซีน เน้นวัคซีนเทคโนโลยี mRNA เพื่อมาฉีดให้กับบุคลากร
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้บางประเทศพบตัวเลขติดเชื้อลดลงจนผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ แต่จะกลับมาระบาดอีกจนต้องล็อคดาวน์อีก โดยทางออกที่ดีที่สุด คือ สร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ชี้ทางออกโควิด-19 เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
อย่างกรณีอิสราเอลฉีดวัคซีนมากกว่า 70% ซึ่งบางวันติดเชื้อมากกว่า 1,000 คน แต่เสียชีวิตไม่ถึง 10 คน แสดงว่าเกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว และประเทศที่จะไปถึงจุดนี้ได้ต้องมีวัคซีนที่มีคุณภาพ ส่วนไทยจะฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ในสิ้นปีนี้ โดยข้อมูลวันที่ 13 ก.ค.ฉีดได้ 13.2 ล้านโดส ต้องฉีดอีก 86.7 ล้านโดส หรือฉีดอีก 86.77% หรือฉีด 5.07 แสนโดสต่อวัน แต่ปัจจุบันฉีดได้เฉลี่ย 3.2 แสนโดสต่อวัน
นอกจากนี้จัดหาวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าได้แค่ 5-6 ล้านโดส จากที่คาดไว้ 15 ล้านโดสต่อเดือน จึงนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม ซึ่งแก้ไม่ถูกจุดเพราะงานวิจัยหลายแห่งระบุว่าซิโนแวคป้องกันกลายพันธุ์ได้ไม่มากนัก การเพิ่มนำเข้าซิโนแวคจึงไม่ใช่ทางออกที่ดี
แนะรัฐบาลเจรจา 'สวอปวัคซีน'
นายนณริฏ กล่าวว่า หน่วยงานรัฐต้องทำงานให้หนักขึ้นในการหาวัคซีนที่หลากหลายชนิดและเทคโนโลยีเข้ามา เพราะไม่รู้ได้ว่าวัคซีนจะกลายพันธุ์อย่างไร ซึ่งระยะสั้นวัคซีนชนิด mRNA มีความจำเป็น โดยเฉพาะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน
ซึ่งวิธีการที่บางประเทศทำได้ผล คือ การทำข้อตกลงการสวอปวัคซีน โดยขอวัคซีน mRNA ที่มีอยู่แล้วใกล้หมดอายุส่งให้ไทยก่อน และเมื่อไทยได้วัคซีนชนิดดังกล่าวมาจะส่งวัคซีนคืนให้ ซึ่งประเทศที่ใช้โมเดลนี้สำเร็จ คือ เกาหลีใต้ทำข้อตกลงสวอปวัคซีนไฟเซอร์กับอิสราเอล 6 ล้านโดส และรับมอบวัคซีนล็อตแรกแล้ว 7 แสนโดส ทำให้เกาหลีใต้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ไปใช้ก่อน ส่วนอิสราเอลไม่ต้องเสียวัคซีนที่ใกล้จะหมดอายุทิ้งไป
“ภาครัฐต้องทำงานหนักกว่านี้เรื่องวัคซีน ไม่ควรยอมว่าเราหาวัคซีนไม่ได้เพราะยี่ห้อหลักส่งช้าก็สั่งซิโนแวคเพิ่ม เพราะยี่ห้อนี้มีไว้เป็นวัคซีนสำรองก็พอสำหรับผู้แพ้วัคซีนยี่ห้ออื่น แต่เรายังสั่งวัคซีนยี่ห้อนี้จำนวนมาก ทั้งที่การรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ต้องใช้วัคซีนเทคโนโลยีอื่นเข้ามาฉีดให้กับประชาชน”
นอจากนี้ รัฐบาลต้องเตรียมวางแผนระยะยาว เพราะการฉีดวัคซีนไม่จบแค่ 100 ล้านโดส แต่ทางวิชาการเริ่มเห็นว่าโควิด-19 อาจเป็นโรคประจำฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นการเตรียมแผนสำหรับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ระยะต่อไปด้วย ซึ่งต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับการจัดหาวัคซีนในปีต่อๆไปด้วย
คาดไทยเริ่มสวอปวัคซีนได้เดือน ก.ย.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเรื่องของการสวอปวัคซีนของประเทศไทยนั้นก่อนหน้านี้นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงแผนการสวอปวัคซีนของไทยว่าตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 กระทรวงการต่างประเทศ ได้เจรจาการทำ vaccine swap เพื่อแลกเปลี่ยนหยิบยืมวัคซีนกันใช้ก่อนกับหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้แคนาดา และสหรัฐฯ เชื่อว่า อาจจะมีพอแลกเปลี่ยนกันได้ตั้งแต่กันยายน 2564 เป็นต้นไป