เปิดโมเดลศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง ”ดันลงทุนไฮเทค 2 หมื่นล้าน
กพอ.ดัน ศูนย์ดิจิทัลบ้านฉาง คาดลงทุน 2 หมื่นล้านบาท สร้างเมืองธุรกิจ รองรับการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนุนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี
การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะเกิดการพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ รวมถึงการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ และการพัฒนา “ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง” จังหวัดระยอง ที่จะรองรับการลงทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 เห็นชอบจัดตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม 7 แห่ง ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ คือ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง จังหวัดระยอง พื้นที่โครงการ 519 ไร่ รองรับงานวิจัยพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และกิจการที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ประกอบกิจการ 360 ไร่ เงินลงทุน 20,000 ล้านบาท
รายงานข่าวเทศบาลตำบลบ้านฉาง ระบุว่า ที่ผ่านมาเทศบาลตำบลบ้านฉางได้เผยแพร่การจัดตั้งโครงการศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง ซึ่งออกแบบเป็นเมืองใหม่สำหรับกลุ่มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ว่างเปล่า เพื่อเป็น “เมืองแห่งธุรกิจและการพักอาศัยสมัยใหม่” ในเขตเมืองการบินภาคตะวันออก โดยมีโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
สำหรับโครงการนี้จะรองรับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการบินและโลจิสติกส์ เทคโนโลยีชีวภาพและเคมีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีเพื่อการพักอาศัย
รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการสมัยใหม่และเอสเอ็มอีให้ลงทุนด้านเทคโนโลยี และการถ่ายทอดความรู้ให้บุคลากรไทย สนับสนุนการจ้างงานของวิศวกรและแรงงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง การรองรับธุรกิจที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ เช่น การใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อเป็นแหล่งข้อมูล ตลอดจนพัฒนาและสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเป้าหมายพิเศษ และส่งเสริมการจ้างงานและการกระจายรายได้ให้ชุมชนรอบพื้นที่
ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้าน เป็นพื้นที่เอกชนดำเนินการ โดยออกแบบเป็น 3 โซน ได้แก่ โซน A โซน B และโซน C แต่ละโซนมีรูปแบบการลงทุนเพื่อความยั่งยืนและมี Business Model คือ
1.Key Partners การดำเนินงานโครงการจะแบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจภายใต้การบริหารของ บริษัทเอเซีย เอ็มไพร์ กรุ๊ป และ Silicon Technology Park โดยจัดพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่สำหรับพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยพันธมิตรร่วมพัฒนาโครงการประกอบด้วย มหาวิทยาลัยของรัฐ ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้ประกอบการด้านสาธารณูปโภคอัจฉริยะ เช่น โรงไฟฟ้า การสื่อสารโทรคมนาคม
2.Key Activities กิจกรรมหลักที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ วางผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินจากนั้นก็จะทำการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางทั้งหมด ได้แก่ ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา พื้นที่สีเขียว ส่วนพื้นที่เพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์นั้น อาจหาผู้ลงทุนภายนอกที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหลังการพัฒนาแล้วเสร็จ
3.Key Resources ทรัพยากรที่สำคัญของโครงการคือที่ดินทำเลทองที่พร้อมสำหรับพัฒนาเป็นศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยี และการร่วมลงทุนจากภาคเอกชนรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) และพื้นที่รอบโครงการหากได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากภาครัฐจะทำให้พัฒนาโครงการได้ราบรื่นขึ้น
4.Value Propositions จุดเด่นหรือจุดขายของโครงการนี้ คือ เป็นเมืองนิเวศสมัยใหม่ท่ามกลางมหานครการบินภาคตะวันออก ซึ่งเหมือนเป็น “โอเอซิส” ของบ้านฉางและระยอง มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดเป็นระบบดิจิทัลอัจฉริยะเพื่อตอบสนองความต้องการผู้ใช้บริการในโครงการและในพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งมีพื้นที่สำนักงานสมัยใหม่สำหรับผู้ประกอบการในยุคดิจิทัลมาประกอบธุรกิจผ่านระบบโครงสร้าง ICT ที่มีประสิทธิภาพ
5.Customer Relationships การดำเนินงานได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลต.บ้านฉางและภาครัฐ ซึ่งเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกันดีของกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่อ.บ้านฉางและจังหวัดระยอง
6.Channels การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สามารถดำเนินการผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์โดยเจ้าของโครงการ การจัดทำกิจกรรมสื่อประชาสัมพันธ์ตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ และการโรคโชว์ในระดับสากล
7.Customer Segments กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่ เจ้าของธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ที่ทำงานในเมืองการบินภาคตะวันออกโดยรอบ และผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรวมทั้งท่องเที่ยว
สำหรับผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง คือ
1.ส่งเสริมการพัฒนากิจการ Innovation Technology Park ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เทคโนโลยีการบินและโลจิสติกส์ เทคโนโลยีชีวภาพและเคมีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีเพื่อการพักอาศัยที่สนับสนุนการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและการบริการ โดยเชื่อมผู้ประกอบการทุกขนาดจากภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ
2.สนับสนุนให้ไทยก้าวสู่ Digital Thailand ตลอดจนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ Digital Economy และ Digital Society
3.ส่งเสริมเกิดการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมและยกระดับเทคโนโลยีของประเทศ เนื่องจากภาคธุรกิจใน Innovation Technology Park ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการสมัยใหม่
4.สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเขตส่งเสริมจะได้รับจากภาครัฐจะช่วยดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงาน การบริโภคใน ประเทศ การส่งออก