PYLON - เริ่มดูดีแต่ยังเปราะบาง (10 ก.ย. 64)
คาดบริษัทจะมีผลขาดทุนสุทธิ 12 ลบ. ใน 3Q แต่จะพลิกเป็นกำไรใน 4Q หนุนโดย (1) อัตราการใช้เครื่องจักรที่สูงขึ้น และ (2) โครงการใหม่หนุนรายได้และอัตรากำไรขั้นต้น
คาดการดำเนินงานจะกลับสู่ระดับปกติใน FY22 จากโครงการเมกาโปรเจคหลายโครงการรอประมูล คงคำแนะนำ ถือ และปรับราคาเป้าหมายเป็น 5.10 บาท (จาก 4.30บาท)
Backlog สร้างระดับสูงสุดใหม่ตั้งแต่ 1Q20
PYLON มี backlog สิ้น 2Q มูลค่า 1,147ลบ. จาก 647ลบ. ในปลาย 1Q Backlog ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ได้มาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบินมูลค่า 400 ลบ. นอกจากนี้มีโอกาสที่ได้สัญญารับเหมาช่วง หลังการประกาศผู้ได้สัญญารับเหมาหลักในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ เช่น ทางพิเศษ พระราม3-ดาวคะนอง (สัญญา 1 และ 3) และทางด่วนพระราม2 ปัจจุบัน PYLON มีคนงาน 200 คนซึ่งเพียงพอสำหรับโครงการเหล่านี้
3Q จะเป็นจุดต่ำสุดในปีนี้
เราคาดรายได้ 3Q จะลดลง 20% qoq เป็น 111ลบ. ผลจากการปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน อัตรากำไรขั้นต้นจะทรงตัว qoq ที่ 15.0% และสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 25.0% จาก 15.2% ใน 2Q ทำให้การดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 12 ลบ. ใน 3Q อย่างไรก็ตามบริษัทจะพลิกกลับมากำไรใน 4Q จาก (1) กิจกรรมก่อสร้างที่กลับมาเป็นปกติ และ (2) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินที่จะเริ่มก่อสร้างในกลางต.ค.
คาดฟื้นตัวเต็มที่ใน FY22
หนุนจากโครงการเมกาโปรเจคหลายโครงการรอประมูลมูลค่า 4.0 แสนลบ. เช่น (1) รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ และ (2) สายสีส้มตะวันตก ซึ่งมีมูลค่างานฐานราก 8.0 พันลบ.
คงคำแนะนำ ถือ ราคาเป้าหมายใหม่ 5.10 บาท (จาก 4.30บาท)
เราปรับคาดการณ์กำไรปี FY21F-22F ลง 82% และ 11% เป็น 40 ลบ. และ 240 ลบ. ตามลำดับ หลังจากปรับ (1) คาดการณ์รายได้ลงจาก 1.7 พันลบ. และ 1.9 พันลบ. ลงสู่ 860 ลบ. และ 1.7 พันลบ. เพื่อสะท้อนการปิดแคมป์คนงาน 1 เดือนและความล่าช้าของเมกาโปรเจค, (2) ลดสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นลง และ (3) เพิ่มสมมติฐานสัดส่วนค่าใช้จ่ายบริหารต่อรายได้ขึ้น รวมถึงปรับปีฐานการประเมินมูลค่าเป็นปี FY22 และได้ราคาเป้าหมายที่ 5.10 บาท อ้างอิง 16.0x PER