ทำตลาด-สร้างแบรนด์ จิ๊กซอว์ปั้น “เรดซัน” โตตามรอย “บาร์บีคิวพลาซ่า”

ทำตลาด-สร้างแบรนด์ จิ๊กซอว์ปั้น “เรดซัน” โตตามรอย “บาร์บีคิวพลาซ่า”

ถึงเป็นเวลาเป็น "ป๋าดัน" บุณย์ญานุช" แม่ทัพการตลาดฟู้ดแพชชั่น ติดอาวุธให้ "เรดซัน" เป็นพระเอกใหม่เสริมแกร่งธุรกิจร้านอาหาร ลุยต่อจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย สร้างแบรนด์-ทำการตลาด ผงาดผู้นำร้านอาหารเกาหลีหม้อไฟต๊อกบ๊อกกี โตตามรอย บาร์บีคิวพลาซ่า

ธุรกิจร้านอาหารจะเติบโตต่อเนื่อง หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการ “ขยายสาขา” ให้มากเพื่อเสิร์ฟความต้องการแก่ผู้บริโภค ทว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอน โรคระบาด และมาตรการรัฐ “ล็อกดาวน์” เป็นภัยคุกคาม(Threats) การ Diversify เป็นอีกอาวุธในการลงสนามรบ

“ฟู้ดแพชชั่น” แม้จะเป็นหนึ่งในบิ๊กธุรกิจร้านอาหาร แต่แบรนด์เรือธงคือ “บาร์บีคิว พลาซ่า” ที่ทำเงินสูงสุดให้กลุ่ม 80-85% ก่อนไวรัสมฤตยูลามโลกและไทย บริษัทพยายามบริหารพอร์ตโฟลิโอให้ บาร์บีคิว พลาซ่า ทำรายได้ 70% แบรนด์อื่น(จุ่มแซบฮัท ฌานา โภชา หมูทอดกอดคอ)อยู่ที่ 30% แต่เกือบ 2 ปีที่เผชิญวิกฤติเลยทำให้ธุรกิจผิดแผนพอควร

ล่าสุด บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร ฟู้ดแพชชั่น ได้ฤกษ์ “ติดอาวุธ” การตลาดและสร้างการรับรู้แบรนด์ให้กับร้านอาหารเกาหลี “เรดซัน”(RED SUN) เชิงรุก เพื่อต่อจิ๊กซอว์ให้ธุรกิจมีความครบเครื่องมากขึ้น และสร้างการเติบโตตามรอยแบรนด์รุ่นพี่อย่าง "บาร์บีคิวพลาซ่า" ด้วย 

ภารกิจทำตลาดและสร้างแบรนด์ "เรดซัน" ครั้งนี้เหมือนนั่งไทม์แมทชีนย้อนเวลาไปช่วง 9-10 ปีก่อนที่ได้ปลุกปั้น "บาร์บีคิวพลาซ่า" ให้แจ้งเกิดในตลาด จึงกลายเป็นความท้าทายของแม่ทัพการตลาดไม่น้อย 

ทำตลาด-สร้างแบรนด์ จิ๊กซอว์ปั้น “เรดซัน” โตตามรอย “บาร์บีคิวพลาซ่า”

แบรนด์ร้านอาหารเกาหลี "เรดซัน" ถูกฟู้ดแพชชั่นเข้าจากซื้อหุ้นร้านมาอยู่ในพอร์ตของบริษัทเมื่อ 2 ปี จากนั้นได้ทยอยปรับโครงสร้างการบริหารด้วยการ “Synergy Share Service Model” ผสานฝ่ายต่างๆทั้งหน้าบ้าน หลังบ้าน เช่น บัญชี ทรัพยากรมนุษย์(HR) ควบครัวกลาง ซื้อวัตถุดิบ การขนส่ง และอื่นๆเพื่อเสริมแกร่งทั้งซัพพลายเชน ช่วยบริหาร “ต้นทุน” ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

อีกหัวใจสำคัญคือพนักงานสามารถปรับตัวเข้ากับระบบการทำงานขององค์กรใหญ่เรียบร้อยแล้ว จึงถึงเวลาต้องทำการตลาดเพื่อผลักดันแบรนด์ให้ผงาดในตลาดร้านอาหารเกาหลี ภายใต้กลยุทธ์ 1.การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รัก(Brand Love)ในหมู่วัยรุ่น คนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ปี จะอิงกระแสวัฒนธรรมเกาหลีหรือเกาหลีฟีเวอร์ K-Pop ต่างๆ ดึงพลังอาณาจักรแฟนหคลับศิลปินดังหรือด้อมให้เป็นแฟนพันธุ์แท้และมาใช้บริการต่อเนื่อง 2.การจัดโปรโมชั่นโดนใจ ประเดิมไตรมาส 4 ด้วย RED SUN BUFFET เอาใจคนแฟนมีทต่างๆ ชูราคาตั้งแต่ 339++ จนถึง 599++ ดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย ผลักดันยอดขายบุฟเฟต์ให้มีสัดส่วนราว 60% จากปัจจุบันอยู่ที่ 45% และเป็นอะลาคาร์ท 55% 

ทำตลาด-สร้างแบรนด์ จิ๊กซอว์ปั้น “เรดซัน” โตตามรอย “บาร์บีคิวพลาซ่า”

3. การสร้างสรรค์ Store For Me “เนรมิตร้านอาหารให้เป็นมากกว่าร้านอาหาร” แต่เป็นคอมมูนิตี้ของบรรดาคนรักอาหาร หลงใหลวัฒนธรรมเกาหลี และเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์เรดซัน เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคไม่เชื่อสิ่งที่แบรนด์พูด สื่อสารการตลาด แต่เชื่อคนในคอมมูนิตี้ เพื่อนมากขึ้น และ4.การบริการของพนักงานต้องเข้าใจวัยรุ่น

“2 ปีก่อนเราคิดว่าเกาหลีฟีเวอร์เป็นแฟชั่นที่มาแล้วก็ไป แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เพราะเป็นเทรนด์สำคัญ โดยอาหารเกาหลีเป็นหนึ่งในความนิยมของคนไทย และเรดซัน เป็นร้านอาหารเกาหลีที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่ขาดจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้าย คือการทำตลาด สร้างการรับรู้แบรนด์”

สำหรับการทำตลาดในไตรมาส 4 ถือเป็น “แผนซ้อมรบ” ของเรดซันเท่านั้น เพราะหากรัฐดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับวัยรุ่น คนรุ่นใหม่อายุ 12-18ปีได้ การเปิดเมือง จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค และปี 2565 บริษัทจะคิกออฟทำตลาดเชิงรุกยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณา “ยักษ์ใหญ่” ธุรกิจร้านอาหาร มักมีแบรนด์หัวหอกทำตลาด การเปิดเกมรบครั้งนี้ ฟู้ดแพชชั่นซึ่งมีพลัง และความเชื่อในศาสตร์การตลาด สร้างแบรนด์ จึงมั่นใจว่าจะผลักดัน “เรดซัน” ผงาดเป็นพระอาทิตย์ดวงที่ 2 ในการทำรายได้หลักแก่บริษัท

ขณะที่การผลักดันให้เรดซันเป็นมากกว่าร้านอาหาร จะเห็นโมเดลใหม่ๆจากแบรนด์ ม่ว่าจะเป็นลุยฟู้ดทรัค บริการเดลิเวอรี่ เปิดตลาดรีเทล ฯ เพื่อต่อยอดการเติบโต

ด้านนพวินท์ รอดริน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดซัน จำกัด ไม่เพียงคลั่งไคล้ความเป็นเกาหลี เป็นประจำทุกปีต้องบินไปเยือนแดนกิมจิไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง เพื่อศึกษาวัฒนธรรม การใช้ชีวิตเป็นอยู่ กระทั่งการกินอาหารในแบบฉบับของชาวเกาหลีอย่างแท้จริง 

Passion ที่มีต่อ "เกาหลี" ยังทำให้นำมาต่อยอดเป็นธุรกิจอาหาร เริ่มจากตระเวนหาเมนูเด็ดสุด อาหารต้นตำรับเกาหลีแท้ๆ มากิน และหนึ่งในนั้นได้ค้นพบพันธมิตรชาวเกาหลีผู้เป็นเจ้าของแชมป์อาหารจานดังต่างๆ หนึ่งในนั้นคือต๊อกบ๊อกกี จึงจับมือนำมาเปิดร้านในไทยคือ "เรดซัน" ซึ่งที่ผ่านมา การทำตลาดและสร้างแบรนด์อาจบางตาไปบ้าง

ทำตลาด-สร้างแบรนด์ จิ๊กซอว์ปั้น “เรดซัน” โตตามรอย “บาร์บีคิวพลาซ่า”

ทว่า เมื่อเข้ามาอยู่ใต้อาณาจักร "ฟู้ดแพชชั่น" 2 ปีที่ผ่านมาจัดทัพองค์ เพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจผ่าน “Synergy Share Service Model” โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง จึงพร้อมรบเต็มสูบ 

นพวินท์ เท้าความถึงตอนผนึกกับฟู้ดแฟชชั่น "เรดซัน" จะเดินหน้าขยายสาขาปีนี้เปิดเพิ่ม 4 แห่ง สูงกว่าเป้าหมายเดิมจะเปิด 3 แห่ง ทำให้ปัจจุบันมีร้าน 15 สาขาแล้ว ยิ่งกว่านั้นต้องผลักดันให้ "เรดซัน" มีอัตราการเติบโต 40% แต่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ทำให้ยอดขายปี 2563 ปิดที่ 179 ล้านบาท หดตัว 4% จากปี 2562 ยอดขาย 185 ล้านบาท เติบโต 85% จากปี 2562 ยอดขาย 100 ล้านบาท 

ขณะที่การลุยทำตลาดไตรมาส 4 เป้าหมายเชิงรุก คือการสร้างยอดขาย 70 ล้านบาท เป็นการชิมลางตลาดและผลตอบรับของกลยุทธ์จะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร เพื่อปี 2565 จะเดินหน้ารุกหนักยิ่งขึ้น เพื่อสานภารกิจการเป็นผู้เล่นตัวจริงในตลาดร้านอาหารเกาหลี 

สำหรับภาพรวมธุรกิจร้านอาหารเกาหลีปี 2562 ประเมินมูลค่า 2,000 ล้านบาท เติบโต 1-2.4% แต่ 2 ปีที่เผชิญโรคระบาด คาดว่าตลาดหดตัว 5-6% เหลือราว 1,850 ล้านบาท โดยตลาดอาหารเกาหลีในไทยมีทั้งไก่ทอด ขนมหวาน ปิ้งย่าง ซึ่งหมวดต๊อกโบกีหม้อไฟ( tteok-bokki)ยังไม่มีใครเป็นผู้นำตลาด จึงมีช่องว่างให้บุกอีกมาก