ตลท.ชี้ปรับเกณฑ์คำนวณดัชนี เน้นแก้ปัญหาตรงจุด-กระทบส่วนรวมน้อย
ตลท เผย ปรับปรุงเกณฑ์คำนวณดัชนี “ฟรีโฟลท-ไม่นำวอลุ่มเทรดช่วงติดแคชบาลานซ์มาคำนวณ” ยัน พิจารณารอบคอบ คำนึง 2 เรื่อง “แก้ปัญหาให้ตรงจุด-กระทบส่วนรวมน้อยที่สุด” จากขณะนี้อยู่ระหว่างประมวลผล หลังปิดเฮียริ่ง
นายภากร ปีตธวัชชัยกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางการปรับปรุงดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้ปิดรับฟังความเห็น (เฮียริ่ง) ไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการประมวลผลและหาข้อสรุปจากความคิดเห็นที่ได้รับ ก่อนจะออกมาเป็นหลักเกณฑ์ทางการต่อไป
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการปรับดัชนีเพื่อให้ดัชนีเพื่อใช้อ้างอิงในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทต่างๆ (Tradable Index) ของ ตลท.สามารถสะท้อนการลงทุนได้ของหลักทรัพย์ (Investable) อย่างเหมาะสม ลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้นในดัชนีที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free Float) ต่ำ และปรับหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ดัชนีและแนวทางในต่างประเทศ
ส่วนในรายละเอียดว่าจะใช้เกณฑ์คุณภาพ กล่าวคือ บริษัทจดทะเบียนต้องมีสภาพคล่องที่สม่ำเสมอและเป็นไปตามสภาพปกติ หรือ ไม่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายควบคู่กับเกณฑ์การปรับการคำนวณดัชนีด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับด้วยฟรีโฟลท (Free Float Adjusted Market Capitalization Weighted) หรือไม่นั้น จะพิจารณาจากข้อมูลที่ได้ภายหลังปิดเฮียริ่ง
“โซลูชั่น หรือแนวทางที่เราจะเลือกใช้ จะเป็นแนวทางที่เราต้องการให้แก้ปัญหาได้ตรงที่สุด และกระทบกับส่วนรวมน้อยที่สุด ซึ่งไม่ง่ายเลย เพราะการแก้ปัญหาได้ตรงที่สุดอาจส่งผลกระทบเยอะ ดังนั้น จะต้องเป็นแนวทางที่ประนีประนอม (Compromise) ทั้ง 2 ด้าน แก้ได้ตรงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และกระทบส่วนรวมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงอยากฝากให้นักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนได้รับทราบว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคำนึงถึงทั้ง 2 เรื่อง”
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกและคำนวณดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปัจจุบันได้แก่ 1. Market ต้องจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อย่างน้อย 6 เดือน ยกเว้นหุ้นสามัญที่เข้าตามเกณฑ์ระหว่างรอบการคัดเลือก 2. Quality ต้องไม่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน ถูกสั่งพักการซื้อขาย หรืองบการเงินมีปัญหา 3. Size พิจารณาจากมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เฉลี่ยต่อวันย้อนหลัง 3 เดือน
4. Free Float น้อยกว่าหรือเท่ากับ 20% 5. Liquidity พิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายเทียบกับค่าเฉลี่ยตลาด และอัตราการหมุนเวียนการซื้อขาย (Turnover Ratio) เทียบกับหุ้นจดทะเบียนของบริษัท และ 7. Thematic พิจารณาจากการจ่ายปันผล ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รายได้จากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และประเภทของอุตสาหกรรม