รู้จัก "สินเชื่อสวัสดิการ" รูปแบบเป็นอย่างไร ให้สิทธิใครบ้าง?

รู้จัก "สินเชื่อสวัสดิการ" รูปแบบเป็นอย่างไร ให้สิทธิใครบ้าง?

ธนาคาร "ออมสิน" เพิ่งปล่อย "สินเชื่อสวัสดิการ" ออกมาให้ "ข้าราชการ" สามารถกู้เงินได้สูงสุดถึง 5,000,000 บาท ผ่อนนาน 20 ปี ชวนรู้ว่าสินเชื่อสวัสดิการคือสินเชื่อรูปแบบไหน? ให้สิทธิใครบ้าง?

หากคุณกำลังขาดสภาพคล่องทางการเงิน รู้หรือไม่? ล่าสุดทางธนาคาร "ออมสิน" ได้เปิดกู้ "สินเชื่อสวัสดิการ" วงเงินกู้สูงสุด 5,000,000 บาท ผ่อนนาน 20 ปี โดยเป็นสินเชื่อที่ให้สิทธิเฉพาะข้าราชการ พนักงานราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ 

แต่ก่อนจะไปดูรายละเอียดในการขอกู้ ชวนรู้ว่า "สินเชื่อสวัสดิการ" คืออะไร มีรูปแบบไหนบ้าง และให้สิทธิใครโดยเฉพาะ?

1. สินเชื่อสวัสดิการ คืออะไร?

สินเชื่อสวัสดิการ คือ สินเชื่ออย่างหนึ่ง ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินมีการปล่อยกู้ให้ประชาชน เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยกำหนด "วงเงิน" และ "อัตราดอกเบี้ย" มาให้พร้อมกำหนดระยะเวลาผ่อนคืน เช่น วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนได้นาน 20 ปี เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

2. สินเชื่อสวัสดิการ ใครมีสิทธิบ้าง?

สินเชื่อสวัสดิการ ส่วนใหญ่จะให้สิทธิแก่ข้าราชการ พนักงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรเอกชนองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งจะมีการตกลงกับระหว่างองค์กรและธนาคารเป็นการเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานในองค์กรนั้นๆ 

 

3. "สินเชื่อสวัสดิการ" มีสินเชื่ออะไรบ้าง?

สินเชื่อสวัสดิการที่ให้สิทธิและอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการ พนักงานราชการ และรัฐวิสาหกิจนั้น ส่วนใหญ่มักจะพบว่ามี 2 รูปแบบหลักๆ คือ

3.1) สินเชื่อบ้านสวัสดิการ

  • เป็นสินเชื่อบ้านประเภทหนึ่ง แต่สินเชื่อประเภทนี้ธนาคารจะจัดให้กับบุคคลเฉพาะกลุ่ม ตามแต่จะมีการตกลงกับระหว่างองค์กรและธนาคาร
  • ส่งเสริมให้บุคคลเหล่านี้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้อย่างสะดวกขึ้น จากสิทธิพิเศษที่ธนาคารมอบให้ มากกว่าการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าบุคคลทั่วไป เช่น ร้อยละของวงเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
  • ธนาคารจะประเมินความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อเอาไว้ต่ำกว่า เพราะองค์กรให้การรับรองผู้กู้ และดำเนินการหักงวดชำระจากเงินเดือนของพนักงานส่งให้ธนาคารตามงวดผ่อนชำระ

 

3.2) สินเชื่อสวัสดิการส่วนบุคคล (เพื่ออุปโภค/บริโภค)

  • เป็นสินเชื่อประเภทหนึ่ง โดยธนาคารจะจัดให้กับบุคคลเฉพาะกลุ่ม ตามแต่จะมีการตกลงกับระหว่างองค์กรและธนาคาร เพื่อใช้ในการอุปโภค/บริโภค
  • เงื่อนไขหลักคือให้กู้ได้ตามความสามารถในการชำระคืน โดยมีทั้งกรณีใช้บุคคลค้ำประกัน และกรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน 
  • ธนาคารจะกำหนดอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการผ่อนคืน
  • ธนาคารจะประเมินความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อเอาไว้ต่ำกว่า เพราะองค์กรให้การรับรองผู้กู้ และดำเนินการหักงวดชำระจากเงินเดือนของพนักงานส่งให้ธนาคารตามงวดผ่อนชำระ

 

 

4. "ออมสิน" ปล่อย "สินเชื่อสวัสดิการ" เช็คก่อนกู้เงิน!

ล่าสุด.. ธนาคาร "ออมสิน" ได้ปล่อยสินเชื่อโครงการใหม่ภายใต้ชื่อว่า ธนาคารออมสินสินเชื่อสวัสดิการสู้ภัยโควิด สำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยให้กู้ได้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระคืน และมีรายละเอียด ดังนี้

  • กรณีใช้บุคคลค้ำประกัน

กรณีหน่วยงานทำข้อตกลงกับธนาคาร (ส่วนกลาง) ให้กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 40 เท่า ของเงินเดือนผู้กู้ แต่ไม่เกินรายละ 3,000,000 บาท

กรณีหน่วยงานทั่วไป ให้กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 30 เท่า ของเงินเดือนผู้กู้ แต่ไม่เกินรายละ 3,000,000 บาท

กรณีนี้ให้กู้ได้ไม่เกิน 15 ปี โดยนับตั้งแต่เดือนที่ต้องชำระเงินกู้และดอกเบี้ยงวดแรกตามที่กำหนดในสัญญา

  • กรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

ให้กู้ไม่เกินรายละ 5,000,000 บาท โดยให้กู้ได้ไม่เกิน ร้อยละ 90 ของราคาประเมินที่ดินพร้อมอาคาร หรือไม่เกิน ร้อยละ 85 ของราคาประเมินห้องชุด ทั้งนี้ กรณีใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน ให้กู้ได้ไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมินที่ดิน และไม่เกิน 3,000,000 บาท

ให้กู้ได้ไม่เกิน 20 ปี โดยนับตั้งแต่เดือนที่ต้องชำระเงินกู้และดอกเบี้ยงวดแรกตามที่กำหนดในสัญญา ยกเว้น กรณีใช้ที่ดินเป็นหลักประกันให้กู้ได้ไม่เกิน 15 ปี

ให้สามารถกู้ตาม 1. และ 2. รวมกันได้ ไม่เกินรายละ 5,000,000 บาท

  • ดอกเบี้ย : อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
  • คุณสมบัติ : เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจมีอายุครบ 20 ปีขึ้นไป และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ต้องไม่เกิน 60 ปี ยกเว้น ข้าราชการอัยการและข้าราชการตุลาการ เมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ต้องไม่เกิน 70 ปี และเป็นผู้ฝากเงินประเภทเผื่อเรียกของธนาคาร

ทั้งนี้ กรณีเป็นการไถ่ถอนและชำระหนี้เดิมที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ต้องนำหลักทรัพย์ที่ไถ่ถอนมาเป็นหลักประกันในการกู้ครั้งนี้ด้วย โดยผู้มีอำนาจอนุมัติตามวงเงินสามารถพิจารณาเปลี่ยนแปลงจำนวนหลักประกันที่มีหลายแปลงให้เหมาะสมกับจำนวนเงินกู้ได้

--------------------------------

ที่มา : ธนาคารออมสิน