ท่องเที่ยวเดินหน้า "Reopen Thailand" จ่อดึงเมกะอีเวนท์หวังสะพัด "แสนล้าน"
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและเสียหายหนักในห้วงวิกฤติโควิดเกือบ 2 ปี และอยู่ระหว่างเร่งฟื้นฟูในฐานะหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ที่เตรียมนับถอยหลัง “เปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ย.2564”
ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เบื้องต้นมี 46 ประเทศ ที่เดินทางเข้าไทยได้แบบไม่ต้องกักตัวและไม่จำกัดพื้นที่
ยุทธศาสตร์การเดินหน้า “เปิดประเทศ” สู่เป้าหมายพลิกฟื้นธุรกิจและเศรษฐกิจไทย ทำให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ต้องเตรียมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยให้กลับสู่ขาขึ้นโดยเร็วที่สุดนั้น ได้ใส่เกียร์เดินหน้าแผนงานต่าง ๆ ในช่วง 2 เดือนที่เป็นโค้งสุดท้ายเพื่อสร้างแรงส่งที่ดีถึงปี 2565 ประเดิมด้วยการแย้มไอเดียดึง “ลิซ่า แบล็กพิงก์” หรือนางสาวลลิษา มโนบาล ศิลปินเคป๊อปสาวชาวไทยซึ่งกำลังมีชื่อเสียงระดับโลกมาขึ้นเวทีงาน “เคาท์ดาวน์ ภูเก็ต 2022” ที่สะพานสารสิน จ.ภูเก็ต ทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กสำคัญ เพื่อโปรโมท “ภูเก็ต” ในฐานะเมืองท่องเที่ยวระดับโลก (World Class Destination) ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น
กระแสการดึงตัวลิซ่ามาขึ้นเวทีเคาท์ดาวน์ภูเก็ตกลายเป็นข่าวดัง เรียกเสียงฮือฮาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยืนยันว่าเป็นเรื่อง “คุ้มค่า” สร้างผลกระทบ (Impact) ต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้อย่างมากหลังได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจากวิกฤติโควิด-19
อ่านข่าว : “ทีเส็บ” เร่งพัฒนาศักยภาพไมซ์ซิตี้ ชูต้นแบบ “ภูเก็ต” ขานรับเปิดประเทศ
ทว่าล่าสุด ค่าย “วายจี เอ็นเตอร์เทนเมนต์” ต้นสังกัดของลิซ่า แบล็กพิงก์ ได้ออกแถลงการณ์วานนี้ (28 ต.ค.) ว่า ลิซ่าไม่สามารถร่วมงานได้ ด้วยตารางงานที่ถูกกำหนดไว้แล้ว กรณีดังกล่าว นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. สำนักงานโซล ได้รับแจ้งจากค่ายวายจี เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ต้นสังกัดของ “ลิซ่า แบล็กพิงก์” ว่า "ลิซ่า" ไม่สามารถมาร่วมงานเคาท์ดาวน์ ภูเก็ต 2022 ได้ (LISA will not be able to attend the event.) ททท.เคารพการตัดสินใจดังกล่าวและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีโอกาสทำงานร่วมกันในอนาคตต่อไป
อย่างไรก็ตาม ททท.จะเดินหน้าจัดกิจกรรม “Reopen Thailand : Culture & Tourism Festival” ในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า : Blue Zone) และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ตามนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล โดยพิจารณาจากความพร้อมด้านสถานการณ์ในพื้นที่เป็นหลัก ได้แก่ ความครอบคลุมการได้รับวัคซีน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำ บนพื้นฐานมาตรการควบคุมโรคเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อการท่องเที่ยว
กิจกรรม Reopen Thailand: Culture & Tourism Festival เป็นการรวมพลังครั้งยิ่งใหญ่ของศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินสาขาต่าง ๆ ทุกสังกัดทุกแนวเพลง ไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อาหารถิ่น เพื่อสร้างความสุขให้กับคนไทยหลังต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดมาเกือบ 2 ปี ปลดล็อกการท่องเที่ยวในประเทศ รักษาสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ เป็นกลไกช่วยให้กลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ตอบโจทย์การเปิดประเทศ และสนับสนุนการพลิกฟื้นเศรษฐกิจต่อไป
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ 1 พ.ย. ล่าสุดมีนักเดินทางตลาดไมซ์ (MICE: การจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) กลุ่มองค์กรจากชาติในอาเซียน จำนวน 11 กลุ่ม กลุ่มละ 40-50 คน เตรียมเดินทางมาประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ส่วนใหญ่เลือกจุดหมายในกรุงเทพฯ ถือเป็นสัญญาณการเริ่มฟื้นตัวของตลาดไมซ์ต่างประเทศ ทีเส็บประเมินว่านักเดินทางไมซ์จากยุโรปน่าจะเป็นตลาดหลักที่กลับมาใช้จ่ายในประเทศไทยในอนาคต
“ทีเส็บคาดการณ์ว่าปี 2564 อุตสาหกรรมไมซ์ไทยจะมีนักเดินทางไมซ์รวมตลาดในและต่างประเทศ 3.5 ล้านคน จะฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2565 มีจำนวนราว 6.13 ล้านคน สร้างรายได้รวม 2.84 หมื่นล้านบาท หรือฟื้นตัว 14% เทียบรายได้รวมไมซ์ไทยปี 2562 ซึ่งปิดที่ 2 แสนล้านบาท ประเมินว่าต้องใช้เวลาอีก 3 ปี หรือ ปี 2567 ไมซ์ไทยจะมีรายได้เท่าปี 2562”
ทั้งนี้ทีเส็บจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน พ.ย.นี้ พิจารณาให้ทีเส็บเป็นผู้ดำเนินการประมูลสิทธิ์จัดงาน “เมกะอีเวนท์” 3 งานใหญ่ ได้แก่ 1.งาน Specialised Expo 2028 ที่ จ.ภูเก็ต เป็นงานเอ็กซ์โปด้านสุขภาพงานใหญ่ของโลก ใช้งบบูรณาการของรัฐลงทุน 4,180 ล้านบาท คาดสร้างเม็ดเงินสะพัด 49,231 ล้านบาท 2.งานพืชสวนโลก 2026 จัดที่ อ.เมืองฯ จ.อุดรธานี เป็นงานระดับเล็ก Type B ใช้งบฯลงทุน 2,500 ล้านบาท สร้างเม็ดเงินสะพัด 32,000 ล้านบาท และ 3.งานพืชสวนโลก 2029 จัดที่ อ.คง จ.นครราชสีมา เป็นขนาดใหญ่ Type A1 ใช้งบฯลงทุน 4,281 ล้านบาท สร้างเม็ดเงินสะพัด 18,942 ล้านบาท
“หาก ครม.เห็นชอบให้ทีเส็บดำเนินการประมูลสิทธิ์จัดงาน และได้รับสิทธิ์การจัดงานจาก BIE ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้ง 3 งาน จะมีการใช้งบบูรณาการของรัฐลงทุนรวม 10,961 ล้านบาท แต่สามารถสร้างเม็ดเงินสะพัดได้มากถึง 100,173 ล้านบาท เป็นไปตามแผนการดึงงานเมกะอีเวนต์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในระยะยาว”
ด้าน นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า โรงแรมในเครือ AWC มีความพร้อมต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ โรงแรมทั้ง 18 แห่งได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ SHA+ แสดงให้เห็นถึงแสดงความปลอดภัย พร้อมดำเนินงานภายใต้มาตรฐานของเชนบริหารโรงแรมระดับโลก เสริมด้วยรูปแบบเป็นศูนย์กลางการบริการครบวงจรทั้งเรื่องการเตรียมเอกสารและการตรวจโควิด-19 พร้อมเข้มงวดความสะอาด สุขอนามัย ความปลอดภัย ประสบการณ์การเดินทาง และพักผ่อนที่น่าประทับใจสำหรับแขกผู้มาใช้บริการ
“หลังจากรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ 1 พ.ย. ทำให้ AWC ได้รับสัญญาณที่ดีจากการตอบรับในทันทีของนักท่องเที่ยว ส่งผลบวกให้อัตราการจองที่พักบางโรงแรมในเครือพุ่งสูงกว่า 2 เท่าในเดือน ธ.ค. เทียบช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะโรงแรมในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น โรงแรมวันนาเบล สมุย และโรงแรม บันยันทรี กระบี่"
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในโค้งสุดท้ายนี้ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในทิศทางบวก!