ร้านอาหารทั่วกรุงตื่นขอ SHA ขายเหล้าเบียร์ ททท.ตั้งคลินิกรับสมัคร 5-19 พ.ย.
ร้านอาหารทั่วกรุงเทพฯตื่นตัวรับกระแสเปิดประเทศ แห่ขอสมัครรับมาตรฐาน “SHA” เพื่อขายเหล้า-เบียร์ตามประกาศ “กทม.” จนเว็บล่ม! “ททท.” ตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางในการลงทะเบียนขอ SHA ที่อาคารสำนักงานใหญ่ของ ททท. ถนนเพชรบุรี ตั้งแต่ 5-19 พ.ย.2564
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว “Thailand Reopening” ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยและการให้บริการเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เห็นได้จากมีความประสงค์ลงทะเบียนเพื่อรับมาตรฐาน SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ผ่านทางเว็บไซต์ www.thailandsha.com เป็นจำนวนมาก
ดังนั้นเพื่อให้การลงทะเบียนรับมาตรฐาน SHA เป็นไปด้วยความรวดเร็วเพิ่มมากขึ้น และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการ ททท.จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษาในการลงทะเบียน SHA” สำหรับผู้ประกอบการทั้ง 10 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1. ภัตตาคารและร้านอาหาร 2. โรงแรม ที่พัก และสถานที่จัดประชุม 3. นันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว 4. ยานพาหนะ 5. บริษัทนำเที่ยว 6. สุขภาพและความงาม 7. ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า 8. กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว 9. โรงละคร โรงมหรสพและการจัดกิจกรรม และ 10. ร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้าอื่นๆ ที่ไม่สามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้
โดยผู้ประกอบการสามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้โดยตรง ณ บริเวณลานจอดรถชั้น G อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ ถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 5 – 19 พ.ย.2564 เวลา 10.00 - 16.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยผู้ที่เดินทางมายื่นสมัครจะต้องแสดงหลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบตามเกณฑ์ และเว้นระยะห่างตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ในวันราชการขอความร่วมมือในการเดินทางด้วยรถสาธารณะ
ผู้ประกอบการที่ยื่นสมัครรับตราสัญลักษณ์ SHA ต้องเตรียมไฟล์ภาพถ่ายมาตรฐานการให้บริการ ตามหัวข้อและรายละเอียดการสมัครของสถานประกอบการแต่ละประเภทกิจการ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thailandsha.com/checklist_example และไฟล์เอกสารสำคัญของสถานประกอบการ เช่น เอกสาร การจดทะเบียนตามประเภทของกิจการ เป็นต้น (รับไฟล์เอกสารเท่านั้น)
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 พบว่ามีจำนวนผู้ประกอบการมาสมัครขอรับมาตรฐาน SHA จำนวนกว่า 10,000 รายตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการนี้เมื่อเดือน พ.ค.2563 กระทั่งรัฐบาลดำเนินการเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อการท่องเที่ยว (แซนด์บ็อกซ์) เช่น โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ประกอบการใน จ.ภูเก็ต สมัครเพื่อประเมินเข้ารับมาตรฐาน SHA และ SHA+ จำนวนมาก หนุนช่วง 4 เดือนล่าสุด ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ประกอบการทั่วประเทศมาสมัครเพิ่มกว่า 40%
และเมื่อดูเฉพาะวันแรกๆ ของการเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 พบว่ามีผู้ประกอบการสมัครเข้ามาจำนวนมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการภัตตาคารและร้านอาหาร ด้านผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรมที่พักฯ และกลุ่มนันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยวมียอดการสมัครเข้ามาเพิ่มเติมเช่นกัน เพราะต่างอยากได้มาตรฐาน SHA และ SHA+
“ยอมรับว่าในวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมาซึ่ง คิกออฟเปิดประเทศ เว็บไซต์สำหรับยื่นสมัครรับตราสัญลักษณ์ SHA ตกใจกับปริมาณทราฟฟิกของผู้เข้าใช้งานจำนวนมาก ทำให้มีการล่มในวันแรก แต่ตอนนี้ทาง ททท.ได้ขยายแบนด์วิดท์ (อัตราการขนส่งข้อมูล) เพื่อรองรับปริมาณทราฟฟิกที่มากขึ้นแล้ว ทำให้ปัญหาคอขวดของทราฟฟิกการใช้งานบนเว็บไซต์ฯน่าจะไม่มีแล้ว”
และจากสถิติการสมัครเพื่อรับมาตรฐาน SHA ณ วันที่ 5 พ.ย.2564 มีสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐานแล้วทั่วประเทศ 20,608 แห่ง โดยกลุ่มประเภทกิจการที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุดคือกลุ่มภัตตาคารและร้านอาหาร 6,476 แห่ง รองลงมาเป็นกลุ่มโรงแรมที่พักและโฮมสเตย์ 5,374 แห่ง กลุ่มยานพาหนะ 4,295 แห่ง กลุ่มบริษัทนำเที่ยว 1,543 แห่ง กลุ่มนันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว 759 แห่ง กลุ่มสุขภาพและความงาม 739 แห่ง กลุ่มร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้าอื่นๆ 736 แห่ง กลุ่มห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า 323 แห่ง กลุ่มการจัดกิจกรรม ประชุม โรงละคร และโรงมหรสพ 204 แห่ง และกลุ่มกีฬาเพื่อการท่องเที่ยว 159 แห่ง
ส่วนมาตรฐาน SHA+ (ชาพลัส) ซึ่ง วางเงื่อนไขว่าต้องมีพนักงานในสถานประกอบการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เกิน 70% ของพนักงานทั้งหมด โดยจากสถิติ ณ วันเดียวกัน มีสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ แล้วทั่วประเทศ 5,068 แห่ง กลุ่มประเภทกิจการที่มีผู้ลงทะเบียนรับมาตรฐานนี้มากที่สุดคือ กลุ่มโรงแรมที่พักและโฮมสเตย์ 2,127 แห่ง รองลงมาคือกลุ่มยานพาหนะ 1,761 แห่ง กลุ่มบริษัทนำเที่ยว 433 แห่ง กลุ่มภัตตาคารและร้านอาหาร 336 แห่ง กลุ่มสุขภาพและความงาม 141 แห่ง และอื่นๆ
สำหรับสถิติการสมัครเพื่อรับมาตรฐาน SHA ในพื้นที่กรุงเทพฯซึ่งประชากรได้รับการฉีดวัคซีนเกินกว่า 80% แล้ว จากข้อมูล ณ วันเดียวกัน พบว่ามีสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐาน SHA แล้ว 4,573 แห่ง โดยกลุ่มประเภทกิจการที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุดคือกลุ่มภัตตาคารและร้านอาหาร จำนวน 2,394 แห่ง ถือว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นมากเกือบ 100% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเดือน พ.ย.ซึ่งมีจำนวน 1,000 กว่าแห่ง รองลงมาคือกลุ่มโรงแรมที่พักและโฮมสเตย์ 690 แห่ง กลุ่มบริษัทนำเที่ยว 453 แห่ง กลุ่มยานพาหนะ 379 แห่ง กลุ่มสุขภาพและความงาม 215 แห่ง และอื่นๆ
ส่วน สถิติการสมัครเพื่อรับมาตรฐาน SHA+ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ วันเดียวกัน พบว่ามีสถานประกอบการที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ แล้ว 513 แห่ง โดยกลุ่มประเภทกิจการที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุดคือกลุ่มโรงแรมที่พักและโฮมสเตย์ 374 แห่ง รองลงมาคือกลุ่มบริษัทนำเที่ยว 37 แห่ง กลุ่มภัตตาคารและร้านอาหาร 27 แห่ง กลุ่มสุขภาพและความงาม 22 แห่ง กลุ่มยานพาหนะ 21 แห่ง และอื่นๆ
“ทั้งนี้ ททท.ขอย้ำว่าร้านอาหารและภัตตาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ต้องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั่งทานในร้าน ต้องได้มาตรฐาน SHA ส่วนบทลงโทษร้านอาหารที่ไม่มีตราสัญลักษณ์มาตรฐาน SHA แต่แอบขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเรื่องของกรุงเทพมหานคร (กทม.) พิจารณาอีกที”
อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณผู้ประกอบการกลุ่มภัตตาคารและร้านอาหารที่ตื่นตัวรับกระแสนี้ โดยไม่ได้ต้องการแค่ตราสัญลักษณ์ SHA เท่านั้น แต่ผู้ประกอบการได้เข้าไปดูว่ามีมาตรการอะไรบ้างเพื่อตัวผู้ประกอบการเองอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างประสบการณ์ที่ดี ความมั่นใจ และความพึงพอใจแก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงคนไทย ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์แห่งการท่องเที่ยว
นางสาวฐาปนีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากมีการเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 พบว่าเริ่มเห็นกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1-4 พ.ย.ที่ผ่านมา เข้ามาแล้วเกือบ 9,000 คน เฉพาะวานนี้ (5 พ.ย.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติดีดตัวเข้ามาถึง 3,000 คน เห็นแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง
โดย ททท.คาดว่าตั้งแต่วันที่ 7-8 พ.ย.เป็นต้นไป จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้นจากการเปลี่ยนแพลตฟอร์มให้ยื่นเอกสารการเดินทางเข้าประเทศ “ไทยแลนด์พาส” (Thailand Pass) แทนการยื่นขอใบอนุญาตเดินทางเข้าราชอาณาจักร (COE: Certificate of Entry) ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น และน่าจะช่วยทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มเป็นเฉลี่ย 10,000 คนต่อวัน ไม่ใช่เรื่องยาก หนุนให้ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 300,000 คนต่อเดือน หรือคิดรวมเป็น 600,000 คนในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้