กฎใหม่คุมเข้ม“สหกรณ์ออมทรัพย์ เครดิตยูเนี่ยน”

กฎใหม่คุมเข้ม“สหกรณ์ออมทรัพย์ เครดิตยูเนี่ยน”

เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบสหกรณ์ที่สูงถึง 2.3 ล้านล้านบาท หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงเตรียมออกกฎกระทรวงฉบับที่ 2 เพื่อควบคุมสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนให้รัดกุมยิ่งขึ้น

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 ว่าด้วยการดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ฉบับที่ 2 ซึ่งได้เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาตรวจร่างแล้ว คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้และประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2565

 

มีสาระสำคัญในด้านการปล่อยเงินกู้ของสหกรณ์ทั้ง 2 ประเภท ต้องรายงานการสำรองหนี้ที่สงสัยว่าจะสูญให้นายทะเบียนสหกรณ์ รับทราบเพื่อที่จะติดตามและเฝ้าระวัง กำหนดให้สำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญ เท่ากับอัตราที่ใกล้เคียงกับสถาบันการเงินทั่วไป

 

ส่วนด้านการปล่อยกู้ เนื่องจากสภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดหนี้ไม่สิ้นสุด ดังนั้นกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 นี้จึงกำหนดงวดการชำระหนี้ของสมาชิกให้สอดคล้องกับรายได้และมีเงินเหลือในบัญชีอย่างน้อย 30 % ของอัตราเงินเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่กฎกระทรวงฯ ได้กำหนดเพดานการชำระหนี้ไว้ไม่เกิน 240 งวด ซึ่งปรับลดลงจากเดิมที่ 700-800 งวดทำให้มีความเสี่ยงที่สหกรณ์จะไม่ได้รับการชำระหนี้คืน

การปรับแก้ระเบียบครั้งนี้จะส่งผลให้คณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์มีความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ในขณะที่การปล่อยกู้ให้กับสมาชิก วงเงิน ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ต้องแสดงเครดิตบูโรด้วย จากเดิมไม่มีเงื่อนไขนี้

 

ส่วนด้านการลงทุน เนื่องจากเงินลงทุนที่มีกว่า 4 แสนล้านบาท จำเป็นต้องมีกรอบกำหนดไว้โดยให้ลงทุนในหุ้นได้เฉพาะองค์กรที่ได้รับการจัดลำดับธุรกิจ ไม่ต่ำกว่า A- ส่วนการปล่อยกู้ระหว่างสหกรณ์จะอยู่ภายใต้การวิเคราะห์ของคณะกรรมการสหกรณ์แต่ละแห่ง ซึ่ง

 

กรมส่งเสริมสหกรณ์โดยศูนย์ข้อมูลทางการเงิน จะแจ้งข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา

 

“คาดหวังว่าสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนจะเป็นสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มสหกรณ์ที่มีจำนวนมากถึง 2 พันแห่ง มีสัดส่วนสินทรัพย์รวมกันกว่า 80 % ของสินทรัพย์ทั้งหมด 2.3 ล้านล้านบาท ส่วนสหกรณ์อื่นๆ คิดเป็น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20 % เท่านั้น”

ทั้งนี้ เงินสินทรัพย์ 2.3 ล้านบาทดังกล่าว ถือว่าปรับเพิ่มขึ้น 6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งทั้งหมดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นในสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ในขณะที่สินทรัพย์ของสหกรณ์การเกษตร มูลค่าสินทรัพย์ลดลง7,000 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด -19 ในขณะที่สหกรณ์บริการ เช่น แท็กซี่ โรงแรม โรงงาน ร้านอาหาร บางแห่งต้องประกาศหยุดการส่งเงินหมุนเวียน เพราะสมาชิกไม่มีรายได้

 

“สมาชิกของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ จะเป็นองค์กรที่มีเงินเดือนประจำ ดังนั้นการจ่ายเงินหมุนเวียน จึงทำได้ปกติ แต่สหกรณ์อื่นๆ ที่ทำธุรกิจค้าขายหรือบริการ ได้รับผลกระทบโดยตรงรายได้ลดลงก็ไม่มีเงินมาจ่าย”

 

 ส่วนด้านหนี้สินของสหกรณ์ โดยรวมปัจจุบันมีประมาณ 2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยสินเชื่อหมุนวนให้กับสมาชิก มีหนี้เสีย โดยเป็นสัดส่วนของสหกรณ์การเกษตรประมาณ10 % ซึ่งการติดตามหนี้จะยากกว่าเมื่อเทียบกับหนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ที่มีสัดส่วนประมาณ 2-5 % แต่หนี้เสียเหล่านี้สามารถคุมได้ โดยในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์ จะสามารถหัก ณ ที่จ่ายได้ทันที ในขณะที่สหกรณ์การเกษตร นั้นจะมีหลักประกัน เป็นสินทรัพย์ และการค้ำประกัน เป็นต้น