TDRI ชงรื้อรัฐราชการ สร้างความพร้อมสู้ "โลกใหม่"
“ทีดีอาร์ไอ” ชงรื้อรัฐราชการ สร้างความพร้อมสู้ “โลกใหม่” ชี้ การนำวัคซีน "โควิด-19” ล่าช้า สูญเงินหลายหมื่นล้านบาท/เดือน แนะ รัฐราชการต้องทำงานแบบเครือข่าย กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ร่วมมือภาคธุรกิจ-ประชาสังคม ลดยึดติดกฎระเบียบและเปิดกว้างทางการเมือง
นายศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวในงานสัมมนา TDRI Annual Public Virtual Conference 2021 “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19” ว่า ประเทศไทยเกิดความล้มเหลวในการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 โดยโจทย์ใหญ่ของไทยคือ ใช้เวลาจัดซื้อนาน อีกทั้งยังปิดความร่วมมือ ส่งผลเสียมหาศาล สร้างผลเสียทางเศรษฐกิจจากการปิดประเทศหลายหมื่นล้านบาทต่อเดือน อีกทั้งยังมีการสูญเสียชีวิตทั้งที่ควรจะหลีกเลี่ยงได้แต่ออกมาขอโทษประชาชน ซึ่งการจัดการวัคซีนโควิด-19 สหรัฐอเมริกาผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ภายในปีเดียวจากปกติ 10 ปี โดยร่วมลงทุนกับเอกชนเงินอุดหนุนพัฒนา 2,500 ล้านดอลลาร์ จนสามารถผลิตขายได้ เป็นการเปิดวาร์ปความเร็วสูง โดยลดขั้นตอนการทดลอง และยอมรับที่จะเกิดคความล้มเหลว
ในส่วนของการแก้ มลพิษทางอากาศ เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน เกี่ยวพันกับหลายด้านทั้งเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม ตัวอย่าง เมืองหลุยส์วิลล์ ได้แก้ปัญหาได้ดี ที่ผ่านมาเป็นเมืองที่มีอากาศแย่ที่สุด จนได้มีการปรับผังเมืองเพื่ออากาศสะอาด โดยร่วมกับสตาร์ทอัพ มูลนิธิมุ่งลดอาการหอบฉุกเฉิน แจกเซ็นเซอร์ติดที่ยาพ่นฉุกเฉินและพัฒนาแอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนเพื่อเก็บข้อมูลการพ่นยา และเตือนความเสี่ยงอาการหอบฉุกเฉิน สามารถลดวันที่คนไข้มีอาการฉุกเฉินเหลือ 36 วัน จาก 180 วันในเวลา 1 ปี นำไปสู่แผนการปรับผังเมืองในพื้นที่เสี่ยง อีกทั้งยังปลูกต้นไม้เพิ่ม ลดจำนวนรถบรรทุกที่วิ่งผ่าน และลดจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นที่มาของมลพิษ และให้รถบรรทุกหลีกเลี่ยงเส้นทาง เป็นต้น
สำหรับการรับมือมลพิษทางอากาศในเมืองไทยถือเป็นวาระแห่งชาติกว่า 15 ปี แต่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน ปัจจุบันพบว่ามีมลพิษทางภาคเหนือ หรือเกิดค่า PM2.5 ซึ่งรัฐราชการไทยเน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น มีการฉีดน้ำ ทำฝนหลวง แต่ไม่เห็นรูปธรรมในการจัดการ ที่มาของฝุ่นร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เพราะยังมีรถเมล์ควันดำวิ่งบนถนน และมีการเผาในพื้นที่เกษตรค่อนข้างมาก ก่อผลเสียหายต่อสุขภาพและชีวิตเช่นในปี 2556 พบว่าคนไทยเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศกว่า 4.8 หมื่นคน
นอกจากนี้ การทำโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสำรวจอวกาศที่ผ่านมาจะเห็น นาซาท่องอวกาศด้วยยานเอกชนจัดซื้อแบบเหมาบริการขนส่งไปสถานีอวกาศ โดยให้ทุนพัฒนาบางส่วนและความเป็นเจ้าของ ทำให้เอกชนลดต้นทุนการพัฒนาและการดำเนินการได้ ซึ่งต้นทุนการพัฒนาที่นาซาพัฒนาเองมีต้นทุนสูงถึงมูลค่า 27,400 ดอลลาร์ ส่วนยานที่บริษัทผลิตเองมีมูลค่าต้นทุนต่ำกว่านาซาผลิตเอง 10 เท่า นอกจากนี้ ยังถ่ายโอน ความรู้และเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนพัฒนาต่อในโครงการตัวเองให้ใช้บริการศูนย์วิจัยออกแบบพัฒนาทดสอบ อาทิ ฝึกอบรมนักบินอวกาศ เป็นต้น
ในขณะที่ประเทศไทย กรณีโครงการส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ในอีก 7 ปี การตั้งเป้าหมายดังกล่าว เกิดการตั้งข้อสงสัยแต่ความสงสัยนี้ ได้มุ่งตรงไปที่ประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ยกตัวอย่าง โครงการภาคขนส่งภาคพื้นดิน เช่น โครงการรถไฟรางคู่จะเสร็จสิ้นปีหน้าพร้อมใช้งาน แต่การจัดซื้อหัวรถจักรยังล่าช้าทำให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส และการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ไม่พอทดแทนคันเก่าที่กำลังปลดระวาง และความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย
จากข้อมูลข้างต้น จึงทำให้เห็นว่ารัฐราชการไทยแบบเดิมไปต่อไม่ได้ ไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องที่ต้องการตอบสนองแบบใหม่ได้ เช่น การจัดหาวัคซีนต่างๆ เพราะยังยึดติดกับการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ทำงานแยกส่วนมองเฉพาะส่วนงานตัวเอง และไม่สามารถตอบสนองโครงการสมัยใหม่ได้ และยึดระเบียบของตัวเอง ดังนั้น บทเรียนสำคัญนี้ รัฐราชการควรสร้างความร่วมมือภาคเอกชน สังคม ไม่มองว่าตัวเองรู้ดีที่สุด ไม่ได้มองเฉพาะภายในองค์กรตัวเองเท่านั้น ควรมองภาคส่วนอื่นๆเป็นภาคี พัฒนารู้จักใช้ให้ประโยชน์กับส่วนอื่น รัฐต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากภาคเอกชน และปรับให้องค์กรมีความยืดหยุ่น สนใจผลลัพธ์ไม่ยึดติดกับขั้นตอน กล้าทดลองยอมรับความล้มเหลว นำไปสู่การทำงานแบบเครือข่ายได้
นอกจากนี้ โมเดลรัฐราชการไทย ยังเน้นคิดเองทำเอง ยึดแนวปฏิบัติตัวเอง ดึงทรัพยากรจากสังคมมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนปี 2563 ระบุว่า สัดส่วนคนในภาครัฐปี 2563 คนในส่วนกลาง 60% ส่วนภูมิภาค 21.7% ส่วนท้องถิ่น 18.3% ส่วนงบประมาณมีงบบุคลากรถึง 40% ส่วนงบพัฒนามีเพียง 30% อีกทั้ง ยังเน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ เช่น ระบุขั้นตอน และกระบวนการที่ไม่จำเป็นต่อการบรรลุผลลัพธ์ในการจัดจ้างที่ปรึกษา และยึดกฎระเบียบตัวเองเป็นหลักมีต้นทุนที่ไม่จำเป็นรวมประมาณ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี จาก 1,000 กว่ากระบวนงานของการอนุญาต
ดังนั้น การปรับสู่รัฐเครือข่ายต้องปรับสมดุลระหว่าง 4 ภาคส่วนคือ รัฐส่วนกลาง ประชาสังคม ท้องถิ่น และธุรกิจคือ ปรับบทบาทของรัฐเป็นผู้อำนวยการทำงานเครือข่าย กระจายอำนาจสู่เครือข่ายท้องถิ่น ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ไขปัญหา และส่งเสริมศักยภาพของภาคประชาสังคม
“รัฐต้องเปิดกว้างไปสู่รัฐเครือข่ายเข้มแข็ง มีภาคท้องถิ่น นวัตกรรมใหม่ จะต้องปรับสมดุลอำนาจ ในการปรับบทบาทรัฐส่วนกลางเป็นผู้เอื้ออำนวยการทำงานเครือข่าย โดยข้อได้เปรียบของรัฐส่วนกลางจะมีบทบาทอำนาจหน้าที่ดูแลมีงบประมาณจำนวนมาก ส่วนข้อเสียเปรียบของรัฐต่อภาคส่วนอื่นคือ รู้ปัญหาไม่ลึกเท่าท้องถิ่น และภาคประชาสังคมให้บริการได้หลากหลายน้อยกว่าภาคส่วนอื่นๆ มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีน้อยกว่าภาคเอกชน”
นอกจากนี้ รัฐราชการต้องปรับการทำงานสอดคล้องกับบทบาทเอื้ออำนวยเครือข่าย กำลังคน มองภาคประชาสังคม-ธุรกิจเป็นทีมงานเดียวกัน เปิดรับข้อมูลกับภาคประชาสังคม ลดขั้นตอนเพื่อให้ทำงานกับภาคส่วนอื่นได้ กระจายอำนาจสู่เครือข่ายท้องถิ่น ต้องคืนประชาธิปไตยท้องถิ่น โดยให้ท้องถิ่นจัดทำแผนกระจายอำนาจตามเป้าหมายการพัฒนาท้องถิ่น 2548 สร้างเครือข่ายเพื่อปรับความพร้อมในการรับถ่ายโอนภารกิจ และแก้กฎหมายกระทรวงมหาดไทยที่จำกัดอิสระของท้องถิ่นโดยไม่จำเป็น
ทั้งนี้ ควรส่งเสริมให้ภาคธุรกิจคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม ลดการผูกขาดเพิ่มการแข่งขันโครงการสร้างรายรับของธุรกิจ ลดกฎระเบียบที่จำกัดการเข้าสู่ตลาดของบริษัทขนาดเล็กและกลาง ส่งเสริมศักยภาพประชาสังคม และการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เช่น เปิดเผยข้อมูล Open Data มากยิ่งขึ้น เป็นต้น
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์