กองทุน“อีอีซี”หนุนเรียนภาษา ดันต้นแบบ25สถาบันการศึกษา
สกพอ.เดินหน้าบูรณาการภาษาต่างประเทศกับการเรียนวิชาชีพ เตรียมขยายผลจาก 25 สถาบันการศึกษาต้นแบบให้เต็มพื้นที่ เพิ่มโอกาสเข้าถึงงานรายได้สูงให้เยาวชนในพื้นที่อีอีซี
“การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศในอีอีซีสำคัญมาก เนื่องจากมีการลงทุนจากต่างชาติเป็นจำนวนมาก”
ในปี 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มีการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและเครือข่ายด้านภาษาในมหาวิทยาลัยบูรพา ภายใต้การสนับสนุนของ กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กองทุนอีอีซี 2563-2564 จัดทำโครงการพัฒนาการสอนภาษาต่างประเทศโดยเน้นภาษาอังกฤษและจีน ให้กับสถาบันการศึกษาต้นแบบและครูต้นแบบในเขตพื้นที่อีอีซีอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการจัดการศึกษาสู่ระดับสากลในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและสถาบันเครือข่าย เพื่อการการยกระดับศักยภาพของผู้เรียนให้สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศในวิชาชีพได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงงานรายได้สูงให้กับเยาวชนในอนาคต
สำหรับการดำเนินงานใช้วิธีการ Content-Language Integrated Learning (CLIL) บูรณาการภาษาให้เข้ากับเนื้อหาวิชาชีพทุกวิชา มีการอบรมพัฒนาทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศของครูต้นแบบ และสร้างสภาพแวดล้อมในการใช้ภาษาต่างประเทศในสถานศึกษาให้ผู้เรียนมีความคุ้นเคยและเรียนรู้ได้เร็ว
เพ็ชร ชินบุตร กรรมการและเลขานุการผู้บริหารกองทุนอีอีซี กล่าวว่า จากโครงการพัฒนาสมรรถนะการจัดการโรงเรียนต้นแบบการใช้ภาษาอังกฤษและจีนให้ทั้งครูผู้สอนและนักเรียนในเขตพื้นที่ อีอีซี ที่ผ่านมานั้น ซึ่งเป็นการริเริ่มการสร้างสภาพแวดล้อมการศึกษาแบบนานาชาติภายใน 25 สถาบันการศึกษาต้นแบบ
รวมทั้งหลังจากนี้จะมีการรวบรวมองค์ความรู้จากโครงการดังกล่าวเพื่อสร้างเป็นคู่มือในการจัดกิจกรรมและพัฒนาเทคนิคการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและได้ผลจริง ให้ผู้เรียนมีความแข็งแรงในการเรียนรู้ภาษาและสามารถต่อยอดสู่การเรียนภาษาต่างประเทศอื่นๆ และเป็นต้นแบบให้กับสถาบันการศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่ได้อีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่คู่มือนี้ได้ในไตรมาสแรกของปี 2565
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ครูและนักเรียนฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษและจีนผ่านโปรแกรม Rosetta Stone การจัดค่ายเรียนรู้ภาษาระยะสั้นให้ทั้งครูและนักเรียน การสนับสนุนให้ครูและโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้นักเรียน และการผลิตสื่อการเรียนรู้สำหรับครูและนักเรียนในรูปแบบหนังสือและพอดแคสต์
ทั้งนี้ การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศในพื้นที่อีอีซีมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีการลงทุนจากต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ของพื้นที่ โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศจีนที่จะเข้ามามากขึ้น แรงงานจึงมีความจำเป็นต้องมีทักษะด้านภาษาที่แข็งแรงโดยเฉพาะศัพท์ในทางเทคนิควิชาชีพที่จำเป็นต้องใช้กับการทำงานและการสื่อสารภายในองค์กร ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนในรูปแบบนานาชาติจะเอื้อให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับการใช้ภาษาต่างประเทศในที่ทำงาน
นอกจากนี้ ในปี 2565 ได้ร่วมสนับสนุนเครือข่ายด้านภาษาในมหาวิทยาลัยบูรพา ประกอบไปด้วยความร่วมมือของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง อาทิ โดยจะเป็นการยกระดับการพัฒนาด้านภาษาโดยการเชิญนักวิชาการจากต่างประเทศเข้ามาเป็นผู้อบรมให้กับครูต้นแบบในอีอีซี ให้มีความสามารถในการออกแบบแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ภาษาอังกฤษในงานช่างเทคนิค เพื่อวัดระดับภาษาของผู้เรียนและพัฒนาหลักสูตรการสอน
โดยการลงทุนด้านการเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้จะเกิดเป็น “เครือข่ายครูต้นแบบ” ตามแผนการพัฒนาและผลักดันการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ของกองทุนอีอีซี ทั้งการพัฒนาผู้เรียนเพื่อเป็นโรงเรียนต้นแบบ ส่งเสริมการสร้างชุนชนต้นแบบ สังคมต้นแบบ ตอบโจทย์การเป็นพื้นที่ต้นแบบของอีอีซีต่อไป