ส่องเทรนด์การเงิน 5.0 “สังคมไร้เงินสด” อาจเติบโต 3 เท่า ในปี 2030
ในปี 2030 ข้างหน้า “สังคมไร้เงินสด” จะเติบโตขึ้นอีก 3 เท่า ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เทรนด์โลก และการเข้ามาของ 5G
นับตั้งแต่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในโลกการเงินช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปริมาณการโอนเงินทางอินเทอร์เน็ต และโมบายแบงก์กิ้งขยับมาอยู่ที่ 9,610 ล้านรายการต่อปี จาก 95 ล้านรายการต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 100 เท่า
โดยหากเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเข้าถึงได้แบบทุกที่ทุกเวลา จากการเชื่อมต่อจาก 4G สู่ 5G และการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ ก็มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะมีผู้ให้บริการเข้ามาจากหลายทิศทางเพื่อสร้างบทบาททางการเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับผู้ใช้บริการที่มีโอกาสเข้าถึงมากขึ้นเช่นกัน
- สังคมไร้เงินสดมีแนวโน้มโต 3 เท่าในปี 2030
สถานการณ์โควิด-19 บังคับให้ทุกคนมุ่งสู่ถนน "สังคมไร้เงินสด" เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคจากการเดินทางหรือหยิบจับ โดยงานวิจัยของ PWC คาดการณ์ว่า ปริมาณการใช้จ่ายโดยไม่ใช้เงินสด หรือ "Cashless Society" จะมีโอกาสเติบโตขึ้นถึง 3 เท่า ภายในปี 2030 ซึ่งสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบจะช่วยหนุนอุตสาหกรรม Fintech ให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน
- 5G กับ Fintech ในอนาคต
การเข้ามาของเทคโนโลยีเซลลูลาร์รุ่นที่ห้า (5G) กำลังได้รับความนิยมเนื่องจากมีข้อได้เปรียบเหนือเทคโนโลยีรุ่นก่อน มีศักยภาพที่จะเป็นเทคโนโลยีที่ให้ความเร็วมากกว่า 4G (LTE) ด้วยคุณสมบัตินี้จึงคาดว่า 5G จะมีบทบาทสำคัญในการเปิดใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Virtual Reality (VR) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ที่อยู่ในแต่ละอุตสาหกรรมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เว้นแต่กลุ่ม Fintech โดยประโยชน์ของ 5G สำหรับอุตสาหกรรม Fintech ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้แก่
- การตรวจจับความปลอดภัยและการฉ้อโกงที่แม่นยำขึ้น
- การให้สินเชื่อที่คล่องตัว รวดเร็ว
- ธนาคารบนมือถือแบบเรียลไทม์ที่แพร่หลาย
- ช่วยเพิ่มประสบการณ์ผู้ใช้
- เวลาแฝงในการทำธุรกรรมลดลง
- มีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (Al) และความเป็นจริงเสมือน (VR) สำหรับการเสนอขายของลูกค้ามากขึ้น
- Blockchain กับระบบการเงินไทยในอนาคต
Blockchain คือ ระบบการเก็บและบันทึกข้อมูลแบบกระจายฐานข้อมูล (Distributed ledger technology) แทนการรวมศูนย์ แต่จำกัดการเข้าถึงด้วยการเข้ารหัส จึงมีความปลอดภัยสูง สร้างโอกาสในการทำธุรกิจระหว่างกันโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง (Peer-to-peer)
“สินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ “คริปโทเคอร์เรนซี” ที่ใช้ระบบบล็อกเชนก็เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่กำลังได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ และเขย่าโลกการลงทุนที่เริ่มทำลายขีดจำกัดแบบเดิมๆ ที่ผลักดันให้ผู้ให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้น
แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เอง ก็หันมาพัฒนาศักยภาพระบบการเงินไทยจาก Distributed Ledger Technology (DLT) หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกว่า บล็อกเชน (Blockchain) เช่นกัน
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสถาบันการเงิน 8 แห่ง และบริษัท R3 (ผู้พัฒนา DLT ใน Corda Platform) ร่วมทดสอบการนำ DLT มาประยุกต์ใช้ในระบบโครงสร้างพื้นฐานของตลาดการเงิน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา “สกุลเงินดิจิทัล” ที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency : Retail CBDC) ภายใต้ชื่อโครงการ “อินทนนท์” (INTHANON) ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2561
เป้าหมายสูงสุดของโครงการอินทนนท์ไม่จำกัดแค่การพัฒนาระบบต้นแบบอยู่ในห้องทดลองเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้ หาก DLT ได้รับการพัฒนาไปถึงระดับที่สามารถนำมาใช้ขยายออกไปในวงกว้างด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
ระบบต้นแบบที่ร่วมกันพัฒนาภายใต้โครงการอินทนนท์ นี้ จะถูกนำมาเป็นพื้นฐานทางการเงินของประเทศที่นำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินให้กับประชาชน ทั้งในแง่ของความเร็วและความสะดวกที่เพิ่มขึ้น ต้นทุน และค่าใช้จ่ายจะต่ำลงด้วย เป็นที่น่าจับตาว่า สิ่งที่จะเกิดในอีกไม่กี่ปีหลังจากที่การทดสอบสิ้นสุดการเงินของไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?
นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของการก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วเกินต้านทาน และแน่นอนว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีเหล่านี้ยังไม่สิ้นสุด และอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นใหม่ เมื่อ 5G มาถึงอย่างเต็มรูปแบบ ในมิติของธุรกิจเราจะสามารถพัฒนาธุรกิจท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ในมิติใดได้บ้าง เตรียมคว้าโอกาสที่จะมาพร้อม 5G ในงานสัมมนา 5G THAILAND BIG MOVE ในวันพฤหัสบดี ที่ 2 ธันวาคม 2564 เวลา 08.30 น. – 15.30 น. ลงทะเบียนได้ที่ www.bangkokbiznews.com/seminar/5GThailandBigMove สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 338 3000 กด 1
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์