ปลดล็อก 4 ความเชื่อและความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ 5G
"อินเทล" ยักษ์ชิปโลก ชวน ปลดล็อก 4 ความเชื่อและความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ 5G ระบุไทย อยู่ในจุดที่นำหน้าประเทศอื่น เป็นประเทศแรกที่เปิด 5G แบบเชิงพาณิชย์ คาด ปี 2565 ตลาด 5G จะมีมูลค่าสูงถึง 15.9 พันล้านดอลลาร์
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นนอกจากจะช่วยเร่งให้อุตสาหกรรมต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็วแล้ว ยังจุดกระแสความสนใจต่อการเปิดตัวบริการ 5G ทั่วภูมิภาคอาเซียนให้ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยถือว่าอยู่ในจุดที่นำหน้าประเทศอื่น โดยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่เปิดบริการ 5G เชิงพาณิชย์ในปี 2563 ตลาด 5G ในไทยมีศักยภาพพร้อมที่จะเติบโต โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2565 ตลาด 5G จะมีมูลค่าสูงถึง 15.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม "ซานโตช วิศวะนาธาน" รองประธานฝ่ายกลุ่มการขาย การตลาด และการสื่อสาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเทล ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ 5G อยู่หลายประการ ที่อาจทำให้ผู้คนเข้าใจศักยภาพที่แท้จริงของเทคโนโลยีนี้คลาดเคลื่อนได้ ลองมาดูกันว่าความเชื่อผิดๆ นั้นมีอะไรบ้าง และความจริงแล้วคืออะไร
ความเข้าใจผิด: 5G เป็นเทคโนโลยีสำหรับโทรศัพท์เท่านั้น ผู้คนได้ประโยชน์แค่จากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น
ความเป็นจริง: 5G มีพลังในการปฏิวัติเกือบทุกอุตสาหกรรม และมีศักยภาพมหาศาลในการกำหนดวิถีชีวิตของเราใหม่ทั้งหมด มันถูกสร้างขึ้นเพื่อขับเคลื่อนยุคแห่งพลังเทคโนโลยีอัจฉริยะแบบกระจายตัว (distributed intelligence) ที่ช่วยให้เทคโนโลยีอันทรงพลังอื่นๆ มาประสานพลังรวมกันได้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน (pervasive connectivity) โครงสร้างพื้นฐาน Cloud-to-Edge และการบูรณาการคอมพิวเตอร์เข้ากับโลกความจริงอย่างไร้ขอบเขต (ubiquitous computers) เพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมอันยอดเยี่ยม เนื่องจากข้อมูลทั่วโลกมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ 5G สามารถช่วยรองรับข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างเพียงพอ
ศักยภาพของ 5G เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับลูกค้าองค์กร โดย 5G จะเพิ่มขนาดการรองรับ และความยืดหยุ่นของเครือข่ายมือถือ ในทางกลับกัน ความหน่วงต่ำ (low latency) ของ 5G จะเอื้อต่อการทำงานของแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ โดยทำให้โรงงานและเมืองอัจฉริยะสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อัจฉริยะต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ความเข้าใจผิด: การปรับใช้ 5G ไม่ต่างจากการใช้งานเครือข่ายรุ่นก่อนหน้า
ความเป็นจริง: 5G แตกต่างจากเครือข่ายรุ่นก่อนอย่างมาก และจำเป็นต้องใช้การแปลงเครือข่ายแบบขยาย ด้วยจำนวนข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เครือข่ายปัจจุบันที่เราใช้งานกันอยู่ต้องเปลี่ยนไปสู่ 5G ที่มีศักยภาพที่ทรงพลังกว่า นอกจากมาตรฐานเทคโนโลยีไร้สายที่มีมาก่อนหน้าแล้ว 5G ยังถูกออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อกับผู้คน และธุรกิจได้อย่างที่ไม่เคยมีเทคโนโลยีใดทำได้มาก่อน หากเทียบกับ 4G ข้อจำกัดเชิงโครงสร้างทำให้ 4G ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การมีความหน่วงต่ำ ที่สุด และส่งมอบปริมาณงานที่สูงที่สุดได้ ในขณะที่สถาปัตยกรรมคลาวด์ในเครือข่าย 5G จะทำให้การสื่อสารมีความคงที่ ราบรื่น และมีความหน่วงต่ำในรูปแบบที่ยืดหยุ่น และสามารถปรับขนาดได้ตามความต้องการของการใช้งานในปัจจุบันและอนาคต
ความเข้าใจผิด: 5G ไม่สามารถใช้งานได้ตามที่โฆษณาไว้
ความเป็นจริง 5G: ในขณะที่เครือข่ายมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยี 5G จะยังคงเร่งความเร็วเพื่อบรรลุศักยภาพสูงสุดต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปัจจุบัน 5G ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นใช้งาน โดยมีผู้ให้บริการเปิดตัวความพร้อมใช้งานของ 5G อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะใช้เวลา แต่ผู้ใช้งานจะเริ่มเห็นคุณสมบัติใหม่ๆ ของ 5G เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น
ความเข้าใจผิด: การมาถึงของ 5G หมายถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น
ความเป็นจริง5G : อุตสาหกรรมได้มีการรับมือต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วยการเพิ่มมาตรการควบคุมในด้านกลไกการรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและการสื่อสารที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ในการสร้างมาตรฐาน 5G NR (5G New Radio) อุตสาหกรรมได้ "เสริม" ฟังก์ชันความปลอดภัยแบบใหม่สำหรับ 5G โดยเริ่มต้นที่ระดับมาตรฐาน อันที่จริงอินเทลเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในด้านการคำนวณลดต้นทุนการเข้ารหัสลับ (cryptographic algorithms) ผ่านนวัตกรรมใหม่ การกำหนดการใช้งาน การพัฒนาสถาปัตยกรรมขนาดเล็ก และเทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพซอฟต์แวร์รูปแบบใหม่ๆ
ในขณะที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของอาเซียน รวมถึงของเครือข่าย 5G จะช่วยเร่งให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ อินเทอร์เน็ตออฟติงส์ (Internet of Things: IoT) และการเรียนรู้ของเครื่องจักรกล
ในขณะเดียวกัน แบนด์วิดธ์ที่เพิ่มเข้ามา และค่าความหน่วงต่ำของ 5G ก็มีศักยภาพมากพอที่จะปฏิวัติวงการธุรกิจทั้งหลาย รวมถึงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและการสร้างงาน และกำหนดนิยามการใช้ชีวิตของผู้คนใหม่ทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง และได้รับข้อมูลที่เป็นจริงมากขึ้นเกี่ยวกับประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G เพื่อให้เราสามารถดึงเอาศักยภาพของมันมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์