"เอ็กโก กรุ๊ป" ลงทุนปีหน้า 3 หมื่นล้าน ชี้ไร้แผนนำเข้าLNG ช่วงนี้
"เอ็กโก กรุ๊ป" ลงทุนปีหน้า3 หมื่นล้าน โชว์กำไรไตรมาส3/64 กว่า 3,200 ล้านบาท ตั้งเป้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน-ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินถ่านหินปี93 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน10% ปี2573 ไร้แผนนำเข้า LNG ในช่วงนี้ โอดแหล่งเอราวัณล่าช้า กระทบราคาก๊าซนำเข้าพุ่ง
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกปี2564 บริษัทฯ เปิดพื้นที่การลงทุนใหม่ในสหรัฐอเมริกา โดยเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าลินเดน โคเจน ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เป็นโครงการแรก ตามมาด้วยการเข้าไปลงทุนในเอเพ็กซ์บริษัทพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และยังมีโอกาสพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่โครงการใหม่อีกหลายโครงการในอนาคต และมั่นใจว่าผลการดำเนินงานไตรมาส4/2564 จะดีกว่าแผนเดิมที่วางไว้ โดยปีหน้าอัตราการเติบโตยังต่อเนื่องในสัดส่วนที่ใกล้เคียงปีนี้
ส่วนการพัฒนาธุรกิจในประเทศ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดตั้ง บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ซึ่งจะเป็นบริษัทเรือธงด้านนวัตกรรมไฟฟ้าของกลุ่ม กฟผ. ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมสตาร์ทอัพ เพิ่มรายได้ธุรกิจนวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีแห่งอนาคตในอุตสาหกรรมพลังงาน (New S-Curve) เน้นการต่อยอดและพัฒนาเทคโนโลยีด้านไมโครกริด ด้านระบบกักเก็บพลังงาน และด้านยานยนต์ไฟฟ้า เสริมสร้างฐานธุรกิจ Smart Energy Solution ให้เติบโตยิ่งขึ้นด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3/2564 บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี การด้อยค่าของสินทรัพย์ การวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน และการรับรู้รายได้แบบสัญญาเช่า) 3,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 370 ล้านบาท คิดเป็น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2563 มีปัจจัยมาจากการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ อาทิ โรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา น้ำเทิน 2 และไซยะบุรี
นอกจากนี้ กำไรจากการดำเนินงานของเหมืองถ่านหินเอ็มเอ็มอีเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออก ถ่านหินและราคาขายถ่านหิน โดยปัจจุบันถ่านหินเหลืออีก 1 เหมืองในอินโดนีเซีย ที่เกาะสุมาตราตอนใต้ ใช้สำหรับโรงไฟฟ้าได้ดี ดำเนินการตลอดปีไม่มีการปิด ปีนี้จะเป็นปีที่ขายยอดได้สูงที่สุดทะลุ 1.1 ล้านตัน ถือว่าสร้างกำไรดีมาก เพราะราคาถ่านหินพุ่งการขายหลักๆ ส่งออกไปจีน ในเอเชียเป็นหลัก ตามแผนจะขายแต่จะต้องรอจังหวะเวลา ระยะนี้ถ่านหินยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น 40%
นายเทพรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ คือ โครงการโรงไฟฟ้า 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเลหยุนหลิน ในไต้หวัน ก่อสร้างแล้วเสร็จ 71% โดยปัจจุบันกังหันลม 2 ต้น จำนวน 16 เมกะวัตต์ ได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ คาดว่าจะรับรู้รายได้ภายในปีนี้ ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำน้ำเทิน 1 ใน สปป.ลาว ก่อสร้างแล้วเสร็จ 94% นอกจากนี้ ยังมีโครงการธุรกิจพลังงาน ที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อสร้างแล้วเสร็จ 89% ในขณะที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยองอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะมุ่งต่อยอดลงทุนธุรกิจไฟฟ้า โดยเฉพาะการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ให้สอดรับกับทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) พร้อมปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินถ่านหินภายในปี 2593 และเป้าหมายลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) 10% ภายในปี 2573
ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 6,000 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 28 แห่ง คิดเป็นกำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายตามสัดส่วนการถือหุ้น 5,638 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายตามสัดส่วนการถือหุ้น 321 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวมสูงถึง 1,364 เมกะวัตต์ ทั้งจากชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และเซลล์เชื้อเพลิง
บริษัทฯ ได้เพิ่มเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในปี2565 กว่า 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากการลงทุนโรงไฟฟ้าในอเมริกามีศักยภาพสูง มีพลังงานหมุนเวียนสูง ถือเป็นสำคัญ ส่วนตลาดอื่นที่ลงทุนอยู่ก่อนแล้ว ก็มีหลายโครงการที่กำลังเจรจา จึงต้องดูปัจจัยหลายข้อ เพราะเราลงทุนใน 8 ประเทศ ซึ่งประเทศที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้วมีพาร์ทเนอร์สำคัญ การดำเนินธุรกิจจะไม่เหมือนสมัยก่อนแล้วที่ผลิตแล้วขาย แต่จะเป็นแบบ IPP โดยเป็นทั้งผู้พัฒนาและเจ้าของ พร้อมเน้นการขยายการลงทุนในพื้นที่หรือประเทศที่ลงทุนอยู่ก่อนแล้ว จะเน้นไปโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในแต่ละประเทศยังมีไม่มากนัก ในทุกประเทศยังจำเป็นต้องพัฒนาที่ยังเป็นฟอสซิลอยู่เพราะมีเสถียรภาพที่ดีกว่า ยังต้องมีแต่จะใช้เทคโนโลยี CCUS เพื่อการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน
สำหรับแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยหลังจากได้รับสิทธิ์เป็นผู้นำเข้า ซึ่งปรากฏว่าราคาแก๊สมีราคาสูงมาก จึงไม่มีแผนที่จะนำเข้าในขณะนี้ จึงจะดูฤดูกาลก่อนว่าราคาจะจูงใจอย่างไร ส่วนการนำเข้าหรือไม่นั้นจะพิจารณาความคุ้มค่า ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วน LNG ที่ผลิตเองที่ 200,000 ตันต่อปี ถือว่าเป็นปริมาณไม่มากนัก จึงจะต้องหาพาร์ทเนอร์ เพื่อเข้าไปจัดหาทำให้ราคาดีที่สุด ในขณะที่แหล่งเอราวัณมีความล่าช้า การผลิตก๊าซในอ่าวไทยจะมีต้นทุนต่ำ หากล่าช้าอีกจะทำให้ราคาการนำเข้าสูงตามไปด้วย ส่วนค่าไฟฟ้า FT ที่ปรับขึ้นปี2565 จะส่งผลบวกผลประกอบการกับบริษัทฯ ถือเป็นตัวที่เพิ่มรายได้ให้องค์กรด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้กำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน “Cleaner Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth” โดย Cleaner ลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่ Smarter สร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและการลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ประเภท New S-Curve เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยี ดิสรัปชัน และ Stronger สร้างผลตอบแทนสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วยการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน”