‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่33.67บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ ที่33.67บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทแข็งค่าตามดอลลาร์อ่อนค่าและผันผวนตามฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติกังวลปัญหาโอไมครอนกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาท มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.60-33.80 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้(1ธ.ค.) ที่ระดับ  33.67 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.71 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-33.80 บาทต่อดอลลาร์ 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่า ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ แต่เรายังคงมองว่า ในระหว่างวันเงินบาทยังคงมีแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าอยู่ จากความกังวลปัญหาการระบาดของโอไมครอน

 

 

ประกอบกับสัญญาณเชิงเทคนิคัลในระยะสั้นยังคงชี้ว่าเงินบาทยังมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ นอกจากนี้ การย่อตัวลงของราคาทองคำสู่ระดับ 1,775 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังประธานเฟดสนับสนุนการเร่งลดคิวอี อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดทองคำบางส่วน เข้ามาเก็งกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำในระยะสั้น ทำให้โฟลว์การซื้อทองคำบนสกุลเงินดอลลาร์ตามจังหวะ Buy on Dip อาจกดดันค่าเงินบาทได้ในช่วงนี้ 

ในระยะสั้นนี้ เราเชื่อว่า เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญในโซน 33.80-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ส่งออกบางรายยังรอขายเงินดอลลาร์ รวมถึงผู้เล่นต่างชาติอาจรอจังหวะกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทอีกรอบได้ หากสัญญาณเชิงเทคนิคัลเงินบาทเริ่มเปลี่ยนทิศหรือเกิด Divergence นอกจากนี้ หากข้อมูลวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า โอไมครอน ไม่ได้มีความน่ากลัวอย่างที่กังวลไว้ เรามองว่า เงินบาทก็สามารถกลับมาแข็งค่าได้เร็ว ทั้งนี้ แนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจเห็นผู้นำเข้าบางส่วนเข้ามาซื้อเงืนดอลลาร์บ้างตามความจำเป็น

ดังนั้น ในระยะนี้ เราประเมินว่า ตลาดค่าเงินยังมีแนวโน้มผันผวนสูงอยู่ ผู้ประกอบการควรเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น

 

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงเผชิญความผันผวนหนักและยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จากความกังวลปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 สายพันธุ์ “Omicron” หลังจากที่ CEO บริษัทวัคซีน Moderna ได้ระบุว่า วัคซีนที่มี ณ ปัจจุบัน อาจมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกัน Omicron อย่างไรก็ดี ทาง Moderna ได้ระบุว่า วัคซีนใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นต่อการป้องกัน Omicron จะสามารถพร้อมใช้งานได้ในช่วงต้นปีหน้า นอกเหนือจากประเด็น Omicron ตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากมุมมองของประธานเฟดที่ออกมาสนับสนุนแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้น อาทิ การเร่งลดคิวอี ทำให้ตลาดคงมุมมองว่า เฟดอาจสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้หลายครั้งในปีหน้า 

ความกังวลแนวโน้มการระบาดของ โอไมครอนและการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด ได้กดดันให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.90% เช่นเดียวกับ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ที่ปรับตัวลงกว่า -1.55% ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ก็กลับมาอยู่ในโหมดปรับฐานอีกครั้ง หลังปรับตัวลงราว -1.13% เช่นกัน

ในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลสถานการณ์การระบาดของ โอไมครอน ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่อง จนกระทั่ง ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่สนับสนุนการเร่งลดคิวอี ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ เด้งขึ้นมาเล็กน้อยแตะระดับ 1.48% ซึ่งภาพดังกลา่ว สะท้อนว่าผู้เล่นบางส่วนยังคงมีความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์การระบาด และเลือกที่จะเข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยไว้ก่อน แม้ว่าในฝั่งของเฟดอาจมีการเร่งลดคิวอีเกิดขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ทั่วโลกยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ไปก่อนในระยะสั้น จนกว่าตลาดจะมั่นใจได้ว่า Omicron ไม่ได้มีความน่ากลัวอย่างที่เคยประเมินไว้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนตามบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ย่อตัวลงตามบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ สู่ระดับ 96.00 จุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงจากแรงกดดันการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินอื่นๆ โดยเฉพาะ ค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 113.3 เยนต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดเลือกถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น มากกว่าเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่า หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานในวันศุกร์นี้ยังคงแข็งแกร่งและดีกว่าที่คาดไว้ ทำให้ตลาดยังเชื่อว่าเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีหน้า 

สำหรับวันนี้ ตลาดประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง หนุนโดยแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนพฤศจิกายน ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ที่ระดับ 61.1 จุด (ดัชนี >50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)
ส่วนในฝั่งเกาหลีใต้ ตลาดประเมินว่า โมเมนตัมการขยายตัวของภาคการส่งออกยังคงแข็งแกร่งและช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยในเดือนพฤศจิกายน ยอดส่งออก (Exports) จะโตราว 25%y/y ซึ่งภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ตัดสินใจทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้ง ราว 0.50% ในช่วงที่ผ่านมา
นอกเหนือจากประเด็นข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน ว่าเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่เริ่มเห็นด้วยกับประธานเฟดต่อการเร่งลดคิวอีหรือไม่ รวมถึง มุมมองของเจ้าหน้าเฟดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า