“พาณิชย์”ห่วงน้ำมันดันเงินเฟ้อ มั่นใจคุมขยายตัวสอดคล้องเศรษฐกิจ
พาณิชย์ คงเเป้าเงินเฟ้อปี 65 ที่ 0.7-2.4% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.5% ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งท่องเที่ยว ส่งออก ขณะะที่เงินเฟ้อทั้งปี 64 เพิ่ม 1.23% จากราคาน้ำมันพุ่ง
“เงินเฟ้อ” เครื่องชี้วัดอุณภูมิเศรษฐกิจว่ากำลังซื้อของคนทั่วไปอยู่ในอาการพร้อมใช้จ่ายและเติบโตตามรายได้หรือจีดีพีประเทศหรือไม่ เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเท่ากับภาระการใช้จ่ายบุคคลที่เพิ่มขึ้นหากเป็นไปในสัดส่วนที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องที่ดีเป็นการหนุนนำซึ่งกันและกันแต่หากเงินเฟ้อต่ำก็ชี้ว่ากำลังซื้อไม่ดี เศรษฐกิจก็ไม่โต ซึ่งปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ มองว่าเงินเฟ้อยังโตต่อไปได้
นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า แนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือ เงินเฟ้อปี 2565 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออก การผลิต และความต้องการด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน
ส่วนปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อคือการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต การขนส่ง เงินบาท และการขาดแคลนแรงงาน และยังต้องจับตาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
ทั้งนี้ สนค.ยังคาดว่าเงินเฟ้อปี 2565 จะอยู่ในช่วง 0.7-2.4% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.5% ภายใต้สมมติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ขยายตัว3.5-4.5 %, ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 63-73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล, อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์
“ผ่านมา 1 เดือนตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่ก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งไทยก็บริหารจัดการโควิดได้ดี ทำให้การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังสามารถผลิตได้ตามปกติ แม้ว่าเนื้อหมูจะมีการปรับราคาสูงขึ้นมากในช่วงนี้แต่ไม่มากพอที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อแบบมีนัยสำคัญ สิ่งที่มีผลต่อเงินเฟ้อ คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สนค.จะประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่งเนื่องจากคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ประเมินไว้เมื่อ พ.ย.2564 ที่ผ่านมา"
รณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับ เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 1.23% ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์ประมาณการณ์ไว้ที่ 0.8-1.2% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน สูงขึ้น 0.23 % ซึ่งขยายตัวเท่ากับปีก่อน
ทั้งนี้ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในปี 2564 ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง จากอุปทานที่ไม่สมดุลกับอุปสงค์ของโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันสูงขึ้น ประกอบกับราคาผักสดเพิ่มสูงขึ้น จากปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ
ปัจจัยลบ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผลไม้สด จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวลง และมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่งผลให้ค่าสาธารณูปโภค ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาลดลง
ขณะที่เงินเฟ้อ เดือนธ.ค.2564 เท่ากับ 101.86 เพิ่มขึ้น 2.17% สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานออก พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 100.73 เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2564 และเพิ่มขึ้น 0.29% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2563
หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นหลังกลุ่มโอเปกมีมติคงแผนเดิมในการปรับเพิ่มกำลังการผลิตเดือนก.พ. 2565 เนื่องจากทางกลุ่มเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจมีผลกระทบไม่มากนัก ส่งผลให้ภาพรวมตลาดน้ำมันยังคงตึงตัว แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตก็ตาม
ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) คาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค 2564 อาจปรับลดลง 3.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน
สำหรับราคาน้ำมันดิบดูไบ (4ม.ค.2565) ราคา 77.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.06 ดอลลาร์,เบรนท์ ราคา80 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น1.02ดอลลาร์ ,เวสต์เท็กซัส ราคา 76.99 ดอลลาร์เพิ่มขึ้น 0.91 ดอลลาร์
โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกของจีนที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำในเดือน ม.ค. 2565 หลังรัฐบาลปรับลดโควต้าการส่งออก นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคที่ยังแข็งแกร่ง