ศบศ.แตะเบรกสิทธิ์ต่างชาติรายได้สูงซื้่อ - ถือครองที่ดินอยู่อาศัยในไทย
ศบศ.แตะเบรกสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมชาวต่างชาติรายได้สูงพำนักระยะยาวในไทยไม่เกิน 1 ไร่ ไม่ขยายสิทธิ์ถือครองห้องชุดเกิน 49% ไม่ขยายระยะเวลาในการเช่าบ้าน หลังมหาดไทยเบรกข้อเสนอ สุพัฒนพงษ์ เผยเคาะเป้า 2 แสนคนเข้าไทยปีนี้ นายกฯสั่งตามงานทุกไตรมาส
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม ประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (21 ม.ค.) ว่าวันนี้ ที่ประชุม ศบศ.ได้มีการหารือถึงความคืบหน้าของการดำเนินการ การตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (LTR) เพื่อดึงดูผู้มีรายได้สูงจากต่างประเทศเข้าประเทศไทย โดยในปี 2565 ตั้งเป้าว่าจะมีกลุ่ม LTR เข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 2 แสนคน
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีให้ติดตามการทำงานเรื่องการดึงผู้มีรายได้สูงเข้ามายังประเทศไทยเป็นรายไตรมาส โดยในระยะแรกให้เน้นเรื่องการสื่อสารการตลาด การสำรวจตลาดเพื่อให้ต่างชาติทราบนโยบายของในเรื่องนี้ของไทย โดยจะต้องดูว่าตลาดตอบรับนโยบายนี้ของไทยหรือไม่มีความต้องการอะไรเพิ่มเติม โดยจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ
ส่วนประเด็นการถือครองที่ดินที่เคยอยู่ในข้อเสนอที่จะให้สิทธิพิเศษกับผู้ถือวีซ่า LTR สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ทีดินในไทยได้นั้น ที่ประชุมให้ดำเนินการตามขั้นตอนซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้เนื่องจากต้องไปออกกฎหมายเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งใช้ระยะเวลานาน
ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดจะให้ในอัตรา 17% นั้นจะไม่ได้ให้กับทุกกลุ่มแต่จะให้เฉพาะกลุ่มที่เป็นแรงงานที่มีความสามารถพิเศษตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดไว้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย ว่าประเด็นการให้สิทธิประโยชน์แก่การถือครองวีซ่า LTR ในส่วนที่ยังไม่ได้ข้อสรุปซึ่งคณะทำงานดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเสนอให้ที่ประชุม ศบศ.พิจารณาคือสิทธิ์ประโยชน์ในด้านอสังหาริมทรัพย์ 3 ข้อได้แก่
1.การถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอัตราส่วนที่มากกว่า 49% ของเนื้อที่ห้องชุดทั้งหมด
2.การขยายระยะเวลาในการให้สิทธิ์ชาวต่างชาติเช่าบ้านจัดสรรจากเดิม 30 ปี เป็น 50 ปี
และ 3.การให้สิทธิ์ชาวต่างชาติในการถือครองที่ดิน เพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่
โดยใน 2 ข้อแรก นายอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โต้แย้งโดยระบุว่าเงื่อนไขเดิมเหมาะสมอยู่แล้ว และหากเสนอเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองได้
ที่ประชุม ศบศ.จึงผ่านเฉพาะในส่วนของการให้สิทธิ์ชาวต่างชาติในการถือครองที่ดิน เพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ โดยมอบหมายให้กรมที่ดินเสนอเงื่อนไข หลักเกณฑ์ให้นำเสนอมาให้ ศบศ.พิจารณาอีกครั้ง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ศบศ.ว่าในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ ประเทศไทย สศช. ได้รายงานความคืบหน้า ในการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญได้แก่
1.การตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (LTR) ครม.ได้เห็นชอบร่าง ประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยให้สิทธิแก่คนต่างด้าวใน 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงาน จากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งครอบคลุมคุณสมบัติและแนวทางการยื่นคำขอรับรองขอรับ การตรวจลงตราวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa: LTR) ที่สำคัญ ได้แก่
- วีซ่า LTR จะครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 ปี โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ 5 ปี และยื่นคำขอรับรองคุณสมบัติ เพื่อขออยู่ต่อได้อีก 5 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้าออกราชอาณาจักร โดยรวมถึงคนต่างด้าวและ ผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (อายุไม่เกิน 20 ปี) จำนวนไม่เกิน 4 คน
- กำหนดให้ แจ้งที่พำนักอาศัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อพำนักครบ 1 ปี จากเดิมที่ต้องดำเนินการทุกรอบ 90 วัน
- หากมี ความประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรด้วยวัตถุประสงค์อื่น ให้สามารถกระทำได้
- การเพิกถอนวีซ่า LTR คนต่างด้าวจะถูกเพิกถอนวีซ่า LTR เมื่อไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทยนี้ และคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าววีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยกำหนดให้คนต่างด้าวที่ได้รับวีซ่า LTR สามารถยื่นคำขอใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหาร จัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้ และเมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ให้คนต่างด้าวสามารถทำงานไปพลางก่อนได้โดย ไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน โดยมีการกำหนดอายุของใบอนุญาตทำงาน ดังนี้
- กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานโดยมี นายจ้าง ให้ใบอนุญาตทำงานมีอายุเท่าสัญญาจ้าง แต่ไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาตทำงาน และคนต่าง ด้าวสามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้ โดยให้ต่ออายุตามระยะเวลาในสัญญาจ้าง แต่ไม่เกินครั้งละ 5 ปี
- กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีนายจ้าง ให้ใบอนุญาตทำงานมีอายุเท่าที่คนต่างด้าวร้องขอ แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตทำงาน และคนต่างด้าวสามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงานได้ โดยให้ต่ออายุตาม ระยะเวลาที่คนต่างด้าวร้องขอ แต่ไม่เกินครั้งละห้าปี
- บีโอไออยู่ระหว่างเตรียมเสนอร่าง ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการตรวจลงตรา ประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว และร่างประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุนเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับ การตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (Smart Visa) (ฉบับแก้ไข) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในเดือนมกราคม 2565
- สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะเริ่มดำเนินการเตรียมร่างประกาศในการยกเว้นคนต่าง ด้าวผู้ถือวีซ่า LTR ให้ไม่อยู่ในบังคับของข้อกำหนดอัตราส่วนการจ้างงานชาวไทยและต่างชาติ 1 ต่อ 4 ภายหลัง จากที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ได้รับสิทธิวีซ่า LTR
- กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความประมวล รัษฎากรเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับชาวต่างด้าวผู้ได้รับวีซ่า LTR โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่าง การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
- กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศกรมศุลกากรเพื่อเป็นแนวทาง การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับวีซ่า LTR เป็นการเฉพาะ โดยคาดว่าจะสามารถออก ประกาศได้ภายในเดือนมกราคม 2565 อีกทั้งยังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำช่องทางพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับวีซ่า LTR อีกด้วย
การจัดตั้งศูนย์บริการ LTR Service Center ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการดังนี้
- บีโอไอและทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ เร่งหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งศึกษาแนวทางและ กำหนด แผนงาน/ระยะเวลาในการจัดตั้งศูนย์บริการฯ โดยเร็ว
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบ ข้าราชการ (กพร.) และ สกท. เร่งหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการกำหนดวิธีการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure: SOP) และกำหนดระดับการให้บริการ (Service Level Agreement: SLA) และ มอบหมายให้บีโอไอ เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลการปฏิบัติงานของศูนย์ LTR service center เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการปฏิบัติงานและระดับการให้บริการที่กำหนด