คมนาคมเร่งเปิดพีพีพีระบบทางด่วนเอกชัย - บ้านแพ้ว จ่อให้บริการปี 2568
คมนาคมเร่งสร้างมอเตอร์เวย์สาย 82 ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว เตรียมเปิดให้บริการภายในปี 2568 ลุยพีพีพีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางไร้ไม้กั้นปีนี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาและลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ตอน 1 - 10 พร้อมระบุว่า ถนนพระราม 2 เป็นเส้นทางหลักเชื่อมสู่ภาคใต้ของประเทศ มีปัญหาจราจรติดขัดจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมาโดยตลอด
อย่างไรก็ดี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้กระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงโดยเร็ว โดยเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว โดยให้กรมทางหลวง (ทล.) ใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางมาดำเนินการในส่วนของงานโยธา
กระทรวงฯ จึงได้สั่งการให้ ทล. เร่งดำเนินการหาผู้รับจ้างก่อสร้าง โดยการแก้ปัญหาจะต้องดำเนินการบนถนนพระราม 2 ตลอดแนวเส้นทาง และเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายทางพิเศษ (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) ทางหลวงพิเศษ และทางหลวงแผ่นดิน (กรมทางหลวง) รวมระยะทาง 90.8 กิโลเมตร ประกอบด้วย
1) โครงการทางพิเศษ สายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร
2) โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี - ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย ระยะทางรวม 8.3 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะนี้การก่อสร้างมีความก้าวหน้าแล้ว 57%
3) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการที่มีพิธีการลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธา ในวันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2565)
4) โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงบ้านแพ้ว - ปากท่อ ระยะทาง 47.4 กิโลเมตร สิ้นสุดที่
แยกวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนก่อสร้างในอีก 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2570)
“กระทรวงฯ คาดว่าโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการคมนาคมขนส่งจากกรุงเทพฯ สู่ภาคใต้ และ
ช่วยแก้ปัญหาการจราจรบนถนนพระราม 2 ได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว มีระยะทางรวม 16.4 กม. วงเงินก่อสร้าง 18,759 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน และมีแผนเปิดให้บริการในปี 2568 โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 10 ตอน ดังนี้
- ตอน 1 ระยะทาง 2.17 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง บริษัท อุดมศักดิ์เชียงใหม่ จำกัด มูลค่างาน 1,757 ล้านบาท
- ตอน 2 ระยะทาง 2.19 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า กรุงธน-ไทย มูลค่างาน 1,861 ล้านบาท
- ตอน 3 ระยะทาง 1.06 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า วีเอ็น มูลค่างาน 1,910 ล้านบาท
- ตอน 4 ระยะทาง 1.26 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด มูลค่างาน 1,876 ล้านบาท
- ตอน 5 ระยะทาง 1.66 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง บริษัท บางแสนมหานคร จำกัด มูลค่างาน 1,903 ล้านบาท
- ตอน 6 ระยะทาง 1.10 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า ยูเอ็น-เอเอสไอ มูลค่างาน 1,865 ล้านบาท
- ตอน 7 ระยะทาง 1.43 กิโลเมตร พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน มูลค่างาน 1,868 ล้านบาท
ผู้รับจ้าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
- ตอน 8 ระยะทาง 2.15 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า ซีซีเอสพี-เดอะซีอีซี มูลค่างาน 1,910 ล้านบาท
- ตอน 9 ระยะทาง 2.14 กิโลเมตร ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า ซีเอ็มซี-ทีบีทีซี มูลค่างาน 1,859 ล้านบาท
- ตอน 10 ระยะทาง 1.13 กม. ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า เอส.เค. มูลค่างาน 1,946 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบโครงการเป็นทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ขนาด 6 ช่องจราจรไป - กลับ ตลอดเส้นทาง โดยมีสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน บริเวณ กม. ที่ 31 พร้อมด้วยด่านเก็บค่าผ่านทางและทางขึ้น - ลง จำนวน 4 แห่ง ซึ่ง ทล. จะบริหารจัดการอย่างรัดกุมระหว่างการก่อสร้าง เพื่อลดปัญหาการกีดขวางของการจราจรและอุบัติเหตุตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม
ส่วนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) รวมทั้งการเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้นโดยเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ด้วยระบบ M-Flow ทล. อยู่ระหว่างเตรียมเสนอรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Purchasing Private Partnership: PPP) ให้กระทรวงฯ พิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถประมูล PPP ได้ภายในปี 2565 และดำเนินการติดตั้งระบบในปี 2566 - ปลายปี 2567 จากนั้นจึงเปิดให้ประชาชนวิ่งฟรีทดสอบระบบและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2568
ทั้งนี้ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เสริมศักยภาพระบบการขนส่งทางถนนพื้นที่กรุงเทพฯ เชื่อมต่อภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของประเทศให้ก้าวต่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ที่สำคัญจะมีส่วนช่วยแบ่งเบาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2)
นอกจากการลงนามในสัญญาก่อสร้างแล้ว กระทรวงฯ โดย ทล. ยังได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงคุณธรรม เพื่อสร้างความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการฯ และตั้งเป้าหมายให้การใช้เงินงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิผล และปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างด้วยความสุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม