“อีลิทการ์ด” ล้างขาดทุนสะสมสำเร็จ ทำกำไรครั้งแรกในรอบ 19 ปี
“อีลิทการ์ด” ล้างขาดทุนสะสมสำเร็จในปีงบฯ 64 ทำกำไรครั้งแรกในรอบ 19 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2546 “ททท.” สั่งรีแบรนด์ ปรับปรุงบริการ-สิทธิประโยชน์ ดึงดูดเศรษฐีทั่วโลกทั้งเงินสด-เงินดิจิทัลมาเป็นสมาชิก เข้ามาลงทุนและใช้จ่ายท่องเที่ยวในไทย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ผู้ให้บริการบัตร “อีลิทการ์ด” กล่าวด้วยว่า ในปีงบฯ 2564 (ต.ค.2563-ก.ย.2564) อีลิทการ์ดทำกำไร 238 ล้านบาท สามารถล้างขาดทุนสะสมเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2546 โดยจะโอนกำไรให้ ททท.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 134 ล้านบาท และเก็บเป็นทุนสำรอง 10% ของทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท หรือที่ประมาณ 100 ล้านบาท
ส่วนปีงบฯ 2565 (ต.ค.2564-ก.ย.2565) ตั้งเป้าทำกำไรประมาณ 200 ล้านบาท ทั้งนี้ยอมรับว่ากำไรที่เกิดขึ้นในปี 2564 ส่วนหนึ่งมาจากการขายบัตรสมาชิกได้ถึง 3,280 บัตร สะท้อนชาวต่างชาติต้องการมาใช้ชีวิตในไทยหลังโควิด-19 และอีกส่วนมาจากต้นทุนในการบริการต่ำเนื่องจากในปีที่ผ่านมามีการเดินทางเข้าประเทศไทยน้อย เพราะอยู่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ในปีงบฯ 2565 ตั้งเป้าขายบัตรสมาชิกให้ได้ 4,400 บัตร โดยจะรุกขายบัตรที่มีราคาสูง 1-2 ล้านบาทให้ได้มากขึ้น และทำการรีแบรนด์บัตรอีลิทการ์ด ให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกที่มีรายได้สูงให้มากขึ้น โดยอนาคตอาจมีการขายบัตรสมาชิกอีลิทการ์ดในราคา 5 ล้านบาท และต้องพยายามลดการขายบัตรราคาถูกราคา 6 แสนบาท ซึ่งขณะนี้มียอดขายประมาณ 60% ของจำนวนสมาชิกที่ขายได้
“ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจความพึงพอใจและความต้องการของสมาชิกจากทั่วโลกมากกว่า 400 คน เพื่อนำมาปรับปรุงบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิก เพื่อนำไปสู่การรีแบรนด์อีลิทการ์ด ปรับปรุงบริการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับความเป็นลูกค้าคนพิเศษที่มีรายได้สูงให้มีความหลากหลาย สอดคล้องนโยบายของ ททท.ที่ต้องดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง กลุ่มเศรษฐีที่มีการใช้จ่ายต่อทริปในการท่องเที่ยวสูง กลุ่มเศรษฐีที่ร่ำรวยจากการลงทุนหรือถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี)”
นอกจากนี้หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการในการลงทุนภายใต้โครงการ Flexible Plus Program ให้เป็นสมาชิกบัตร ททท.คาดว่าจะมีเงินลงทุนขั้นต่ำเข้ามาประเทศไทยประมาณ 15,000 ล้านบาท ผ่านการลงทุนในประเทศไทยภายใต้ 3 ประเภทที่กำหนด คือ 1.การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ตามสิทธิที่ชาวต่างชาติพึงได้รับ 2.การลงทุนในบริษัทจำกัดและบริษัทจำกัดมหาชน 3.การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (หรือหน่วยงานลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯส่วนใหญ่ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ฮ่องกง รัสเซีย ฝรั่งเศส อเมริกา สิงคโปร์ เป็นต้น