เปิดเหตุผลแรงงานยุค ‘สังคมสูงวัย’ ทำไมต้องมีเงินออม 7.7 ล้านบาท
"สภาพัฒน์"เปิดข้อมูลค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยเผชิญภาวะสังคมสูงวัย ชี้แรงงานต้องเตรียมค่าใช้จ่าย เงินออมครอบครัวละ 7.7 ล้านบาท สำหรับเลี้ยงเด็ก 1 คน คนแก่ 1 คน และเตรียมเงินไว้สำหรับเกษียณ แนะพัฒนาแรงงานให้สร้างรายได้เพิ่ม รับสังคมสูงวัยขั้นสุดยอด
ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงวัยระดับสมบูรณ์ในอีก 1 ปีข้างหน้า หรือจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ และจะเป็นสังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอดที่มีผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มากกว่า 28% ในปี 2576 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่อัตราการเกิดของประชากรก็มีอัตราลดลง
จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทำให้ในประเทศอีก 10 ปีข้างหน้า คือในปี 2576 ประชากรในวัยพึ่งพิง (เด็ก - คนแก่) จะเพิ่มสูงขึ้นจากที่เดิมจะอยู่ที่ 54.8% ในปี 2564 เพิ่มเป็น 57.2% ในปี 2566 และในปี 2576 จะเพิ่มเป็น 71.3% หมายความว่าประชากรวัยแรงงานไทยต้องดูแลเด็ก และคนแก่เพิ่มขึ้นจาก 55 คน เป็น 72 คน
ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายที่ประชากรวัยแรงงานจะต้องหาเพื่อใช้ในการจับจ่ายในชีวิตประจำวันในครอบครัว รวมทั้งการเก็บออมเพื่อใช้เงินในการดูแลตนเองยามเกษียณอายุ บุพการี รวมทั้งใช้เป็นค่าใช้จ่ายให้กับบุตรหลานจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ
ทั้งนี้ สศช.ได้มีการคำนวณบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (NTA) พบว่าในการวางแผนการเงินของประชาชนในการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยทำให้ทราบว่าครัวเรือนที่จะสามารถดูแลเด็กวัยเรียน ดูแลคนแก่ และมีเงินเก็บส่วนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุไปจนถึงอายุ 90 ปี จะต้องมีเงินออมประมาณ 7.7 ล้านบาท โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้
1.การเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 21 ปี ซึ่งเป็นอายุที่เริ่มเข้าสู่วัยแรงงาน จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมในส่วนที่ภาครัฐสนับสนุน ในวัยเด็กที่เป็นการสนับสนุนทางการศึกษา และค่าอาหารกลางวันเด็กประมาณ 50%
2.วัยแรงงานที่ต้องการวางแผนเกษียณอายุ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีอายุอยู่ถึง 90 ปี จะต้องมีเงินออมในช่วงที่เกษียณอายุที่ 60 ปี ประมาณ 3.1 ล้านบาท โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายบางส่วนที่รัฐสนับสนุนในการรักษาสุขภาพ
และ 3.ค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ ที่เกษียณอายุแล้วกรณีมีอายุถึง 90 ปี จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3.1 ล้านบาทเช่นกัน
“วัยแรงงานต้องหารายได้เพื่อดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และตนเอง เป็นมูลค่า 7.7 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภคของเด็ก ผู้สูงอายุ และการวางแผนเกษียณอายุของตนเอง ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวคำนวณมาจากการที่ต้องดูแลเด็กถึงวัย21 ปี ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และกรณีผู้สูงอายุ และวัยแรงงานจะมีอายุถึง 90 ปี”
จินางค์กูร กล่าวด้วยว่าจากผลการศึกษาข้างต้น สะท้อนประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการ ดังนี้
1.การเพิ่มรายได้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะบรรเทาการขาดดุลรายได้และอาจช่วยยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องมี
การเตรียมความพร้อมด้านทักษะของวัยเด็กให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและทิศทางการ พัฒนาประเทศยกระดับรายได้ของกลุ่มวัยแรงงาน พัฒนาทักษะให้แก่ประชากรกลุ่ม NEETs ให้สามารถสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของวัยสูงอายุ
2.การชดเชยการขาดแคลนของแรงงานผ่านการดึงกลับแรงงานไทยทักษะสูงในต่างประเทศและการนำเข้าแรงงานต่างชาติ ทักษะสูง เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูงในระยะยาว
3.การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของครัวเรือน ทั้งการเพิ่มระดับการออมของครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยง ด้านการเงินโดยเฉพาะในยามฉุกเฉิน รวมถึงวางแผนเกษียณเพื่อเตรียมความพร้อมของชีวิตเมื่อมีรายได้ลดลง และ
และ 4.การปรับปรุงระบบการคลังของประเทศเพื่อสร้างสมดุลทางการคลังและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน