ผ่าแผน 5 ปี “เซ็นทารา” เร่งโต 2 เท่า ดันพอร์ตโรงแรมเฉียด 200 แห่ง!
แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งวิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน” ยังปะทุสร้างแรงสั่นสะเทือนแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย แต่โรงแรมและรีสอร์ทในเครือ “เซ็นทารา” หนึ่งในธุรกิจใต้อาณาจักรตระกูลดัง “จิราธิวัฒน์” มองว่าธุรกิจโรงแรมยังคงมีเสน่ห์ เปี่ยมด้วยโอกาสและศักยภาพ
แค่ต้องอดใจรอดอกผลในระยะยาว!
เห็นได้จากผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มรีเทลในไทยต่างกระโดดเข้ามาลงทุนเพื่อกระจายที่มาของรายได้ รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศที่รวมตัวกันจัดตั้งกองทุน เพื่อพัฒนาโรงแรมใหม่และเข้าซื้อกิจการโรงแรมในไทยช่วงโควิด-19 เมื่อได้ราคาที่เหมาะสม
ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา ฉายภาพว่า วิกฤติโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เครือเซ็นทาราได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก พอมาเจอสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ต้องปรับคาดการณ์การฟื้นตัวของธุรกิจ จากก่อนหน้านี้คาดว่าจะฟื้นตัว 100% เหมือนช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2567 แต่ต้องล่าช้าออกไปเป็นปี 2568
“ธุรกิจโรงแรมเป็นการลงทุนระยะยาว เราเชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนก่อนเกิดโควิด-19"
เครือเซ็นทาราจึงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนโรงแรมใหม่อีก 100 แห่งในอีก 5 ปีข้างหน้า คิดเป็นจำนวนห้องพักราว 20,000 ห้อง แบ่งสัดส่วนเป็นโรงแรมในไทยกว่า 50% และในต่างประเทศอีก 40-50% เฉลี่ยขยายปีละ 20 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่รับบริหาร และมีส่วนที่เครือเซ็นทาราลงทุนเองด้วย ทำให้จำนวนโรงแรมในเครือเซ็นทาราทะยานแตะ 200 แห่ง หรือคิดเป็นประมาณ 38,000 ห้องพักในปี 2569 ใช้กลยุทธ์ผนึกกับพันธมิตรนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศต่างๆ เพื่อเร่งการเติบโตให้ได้ถึง 2 เท่า!
เพิ่มจากปัจจุบันเครือเซ็นทารามีโรงแรมที่ดำเนินการอยู่รวม 88 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพัก 18,225 ห้อง แบ่งเป็นเปิดให้บริการอยู่ 47 แห่ง คิดเป็น 9,481 ห้องพัก และอยู่ระหว่างพัฒนา 41 แห่ง คิดเป็น 8,744 ห้อง
สำหรับการขยาย “โรงแรมในต่างประเทศ” เครือเซ็นทาราจะมุ่งเน้นไปในตลาดจีน กลุ่มประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามที่ตั้งเป้าไว้ถึง 20 แห่ง เปรียบเหมือนบ้านหลังที่ 2 รองจากไทย นอกจากนี้ยังปักธงจุดหมายอื่นๆ ในเอเชีย มหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง ควบคู่กับการมองหาโอกาสทางธุรกิจในตลาดยุโรปตามเมืองเกตเวย์ต่างๆ ด้วย
“หนึ่งในกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจที่สำคัญของเครือเซ็นทารา คือการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำเพื่อเปิดให้บริการโรงแรม ทั้งภายใต้แบรนด์เดิมที่มีอยู่แล้ว และแบรนด์น้องใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวในปีนี้”
เมื่อเจาะโรงแรมที่เครือเซ็นทาราเป็น “เจ้าของ” ตามไทม์ไลน์การขยายธุรกิจช่วง 5 ปีนี้ ที่ได้รับการยืนยันแล้วมีโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างเซ็นทารา บริษัท Taisei Corporation และ Kanden Realty & Development ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้าง คืบหน้าแล้ว 38% และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2566
นอกจากนี้ยังลงทุนสร้างโรงแรมและบริการเพิ่มอีก 3 แห่งในมัลดีฟส์ จากปัจจุบันมีโรงแรมแล้ว 2 แห่ง รวมถึงเขาเต่า (หัวหิน) ชะอำ และเกาะลันตา จ.กระบี่ กับการรีโนเวตโรงแรมที่หาดกะรน จ.ภูเก็ต
ขณะเดียวกันยังเตรียมรีแบรนด์โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กระบี่ เปลี่ยนไปใช้แบรนด์ “เซ็นทารา รีเซิร์ฟ” สานต่อความสำเร็จจากการปั้นแบรนด์นี้หลังเปิดบริการที่เกาะสมุยเป็นแห่งแรกเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าเปิดโรงแรมภายใต้แบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ ให้ได้ 7-9 แห่งภายในปี 2569
นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ตลาดด้าน “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาหาข้อมูลร่วมกับกลุ่มบริษัทจากยุโรป โดยเครือเซ็นทารามองเห็นถึงศักยภาพของเกาะเต่าและเกาะสมุยสำหรับการเปิดโรงแรมด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคต
สำหรับแผนการใช้เงินลงทุนของบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ Centel ในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2567 รวมธุรกิจโรงแรมและอาหารอยู่ที่ 10,400 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2565 ลงทุน 3,400 บาท ปี 2566 ลงทุน 3,400 บาท และปี 2567 ลงทุน 3,600 บาท ทั้งนี้เครือเซ็นทาราเน้นการบริหารสภาพคล่อง โดยสำรองไว้ล่วงหน้า 12 เดือน ขณะที่การลงทุนต่างๆ มองผลตอบแทนการลงทุนที่ระดับ 7-10%
“ในปี 2565 โรงแรมในเครือเซ็นทาราตั้งเป้าหมายรายได้ที่ 5,900 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2564 ซึ่งปิดที่ 2,300 ล้านบาท โดยจะเปิดโรงแรมใหม่เพิ่มอีก 8 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพัก 1,066 ห้อง ในไทย อาทิ กรุงเทพฯ นครราชสีมา และอุบลราชธานี ส่วนในต่างประเทศมีที่กาตาร์ โอมาน และ สปป.ลาว”