บ้านปู เพาเวอร์ ทุ่มงบปีนี้ 700 ล้านดอลลาร์ ดันกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ปี 68
“บ้านปู เพาเวอร์” ทุ่มงบปี 65 กว่า 700 ล้านดอลลาร์ ดัน “โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่-พลังงานหมุนเวียน” หนุนกำลังผลิตรวมแตะ 5,300 เมกะวัตต์ในปี 68 มั่นใจรายได้ไตรมาส 1/65 เติบโตก้าวกระโดด จาก 3 โรงไฟฟ้าในจีน
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สงครามรัสเซียกับยูเครนที่กระทบราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นไม่ได้มีผลกระทบต่อบริษัทโดยตรง แต่สะท้อนผ่านต้นทุนค่าแรงของผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ ขณะที่โรงไฟฟ้าหลักของบริษัท คือ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) และโรงไฟฟ้าในลาว ที่เป็นเชื้อเพลิงถ่านหิน มีการจ่ายไฟฟ้าเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งบีแอลซีพี มีสัญญาระยะยาวกับภาครัฐสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินในจีน อาจได้รับผลกระทบระยะสั้นประมาณ 1-2 เดือนจากระดับราคาถ่านหินที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งนโยบายควบคุมราคาถ่านหินของรัฐบาลจีนจะสามารถกดราคาลงได้
ทั้งนรี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้บรรลุเป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ ในปี 2568 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้า อยู่ที่ 3,242 เมกะวัตต์ โดยปีนี้ตั้งงบลงทุนไว้กว่า 700 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 300 ล้านดอลลาร์ ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 400 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม จะขยายกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีคุณภาพ (Quality Megawatt) สร้างผลตอบแทนที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามกลยุทธ์ Greener & Smarter มุ่งสร้างการเติบโตในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ โดยลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น เวียดนาม โดยนอกจากการเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมแล้ว ล่าสุดยังได้ลงทุนในธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปของ Solar Esco Joint Stock Company บริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของเวียดนามที่ให้บริการแพลตฟอร์มโซลาร์รูฟท็อปครบวงจร
นอกจากนี้ จะลงทุนในโรงไฟฟ้า HELE ในประเทศที่มีศักยภาพ รวมทั้งเดินหน้าการขยายธุรกิจในสหรัฐอเมริกาจากระบบนิเวศของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) หาโอกาสการลงทุนตลอดห่วงโซ่คุณค่าพลังงาน โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรี (Energy Trading) พร้อมศึกษาการผสานห่วงโซ่อุปทานในการนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบาร์เนตต์ (Barnett) ของบ้านปูมาใช้ในโรงไฟฟ้า Temple I เพื่อประโยชน์ในการควบคุมต้นทุนและเพิ่มกำไรจากการดำเนินงาน
“คาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/65 รายได้จะโตก้าวกระโดดจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ทั้ง 3 แห่งในจีนที่สร้างรายได้จากปริมาณการขายไอน้ำที่เพิ่มขึ้น รองรับความต้องการของลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน และรับรู้รายได้จากการเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ขนาดกำลังการผลิต 768 เมกะวัตต์ ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มูลค่าลงทุน 430 ล้านดอลลาร์ (ราว 14,298 ล้านบาท) ที่เริ่มรับรู้รายได้จากการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564”
สำหรับผลการดำเนินงานประจำปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้ 6,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมี EBITDA 3,487 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,127 ล้านบาท ปีที่ผ่านมา BPP สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และรักษาเสถียรภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่ง โดยโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ในสปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย มีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) สูงถึง 85% และ 91% ตามลำดับ
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม CHP ทั้ง 3 แห่งในจีน สร้างรายได้จากปริมาณการขายไอน้ำที่เพิ่มขึ้น รองรับความต้องการของลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังรับรู้ผลกำไรจากโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในญี่ปุ่น และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐอเมริกา