แม็คโคร ทุ่ม 11,000 ล้านบาท ปั้นแพลตฟอร์ม maknet จิ๊กซอว์เติบโตใหม่
แม็คโคร ดันแพลตฟอร์ม maknet สร้างเครือข่ายฐานผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ขายสินค้า ขยายสู่หมวด Non-food จิ๊กซอว์สร้าง New S-Curve ปี65 เดินหน้าควักงบ 11,000 ล้าน ลงทุนต่อทั้งเปิดสาขาใหม่ 35 แห่ง ชูโมเดลฟู้ดเซอร์วิส เล็กเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายประชิด
นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2565 บริษัทตั้งงบลงทุนราว 11,000 ล้านบาท เพื่อขยายห้างค้าปลีกทั้งในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ โดยการเปิดสาขาใหม่ยังมีต่อเนื่อง ทั้งในและต่างประเทศจะเห็น 35 สาขา จากปี 2564 มีร้านให้บริการทั้งสิ้น 142 สาขา และต่างประเทศ 7 สาขา
สำหรับการเปิดสาขาใหม่ จะเน้นเป็นร้านขนาดเล็กโมเดลแม็คโคร ฟู้ดเซอร์วิส มีพื้นที่ขนาด 1,000 ตารางเมตร(ตร.ม.) ใหญ่สุดจะไม่เกิน 2,000 ตร.ม. เพื่อเข้าไปให้บริการแก่ลูกค้าได้ใกล้ชิดมากขึ้น อีกทั้งใช้เงินลงทุนไม่มากนัก ส่วนสาขาขนาดใหญ่จะเพิ่มศักยภาพในการเป็นฮับส่งสินค้าให้แก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
ด้านการเปิดสาขาในต่างประเทศจะเห็นในประเทศอินเดีย 3 แห่ง กัมพูชา 2 แห่ง การเปิดสาขาในต่างแดนเพิ่ม จะทำให้รายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยสัดส่วนราว 1% จากปัจจุบันรายได้หลักมาจากในประเทศ 95% และ ต่างประเทศ 5%
นอกจากนี้ ไฮไลท์สำคัญในปี 2565 คือการขยายแพลตฟอร์มค้าส่งหรือ B2B ออนไลน์(มาร์เก็ตเพลส) ภายใต้ชื่อ “maknet” ซึ่งมาจากแม็คโคร เน็ตเวิร์ค ที่จะรวมผู้ผลิตสินค้า ผู้ซื้อ ผู้ขายมาอยู่ด้วยกัน โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวมีจุดเด่นคือสินค้าและบริการที่ห้างแม็คโครมีน้อยมาเสริมทัพ โดยเฉพาะหมวดที่ไม่ใช่อาหาร(Non-food) เบื้องต้นมีสินค้าจำหน่ายราว 100,000 รายการ จากผู้ผลิต(ซัพพลายเออร์)ราว 1,000 ราย
สำหรับการลงทุนแพลตฟอร์ม “maknet” ภายใน 4 ปีนีจะใช้เงินราว 2,000 ล้านบาท ยกระดับเทคโนโลยีให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจะใช้กลยุทธ์ 3 ขยาย สร้างการเติบโตให้แพลตฟอร์ม ได้แก่ ขยายฐานผู้ผลิตสินค้า เพื่อขยายและเพิ่มปริมาณสินค้า สุดท้ายนไปสู่การขยายฐานลูกค้าหรือผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยเป้าหมายภายใน 3 ปี จะเพิ่มผู้ผลิตเป็น 7,000 ราย เพิ่มปริมาณสินค้าให้เป็น 350,000 รายการ และมีลูกค้าผู้ประกอบการต่างๆใช้บริการแตะ 500,000 ราย
ก่อนหน้านี้ แม็คโคร มีการจัดทัพธุรกิจทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ผสานการซื้อสินค้าออฟไลน์สู่ออนไลน์หรือ O2O ตั้งแต่ปี 2562 ทั้งลุยแม็คโคร 4.0 พัฒนาแพตฟอร์ม MakroClick มีเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่นให้บริการผ่านมือถือ ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา MakroClick มีผู้ใช้งานราว 500,000 ราย การเติบโตดูค่อนข้างช้า แต่เนื่องจากลูกค้าของแม็คโครเป็นผู้ประกอบการหรือ B2B จึงต้องเปลี่ยนไปพร้อมกับลูกค้า
“เราเริ่มขับเคลื่อนแม็คโครเชื่อม O2O มา 3 ปีแล้ว แต่ช่วงโควิดระบาด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย และตอนนี้โลกเข้าสู่ยุคนิวนอร์มัล ยังต้องไปออนไลน์แน่นอน ดังนั้นการลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์ม maknet จะเป็นการเติบโตใหม่หรือ New S-curve ของแม็คโคร แต่การเติบโตอาจช้าหน่อยเพราะ B2B เราจะต้องรอลูกค้าด้วย”
เครือข่าย maknet ที่รวบทุกสิ่งไว้ให้บริการแก่ลูกค้ามากกว่าห้างแม็คโครมี
ปี 2564 แม็คโครสร้างยอดขายราว 220,000 ล้านบาท โดยยอดขายออนไลน์คิดเป็นสัดส่วน 12% การคิกออฟแพลตฟอร์ม maknet บริษัทตั้งเป้ายอดขายออนไลน์เพิ่มเป็น 30% และก้าวขึ้นเป็นแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการหรือ B2B อันดับ 1 ของเมืองไทย ที่ให้บริการลูกค้าครบจบที่เดียว
“เมื่อก่อนอยากให้ยอดขายเติบโต เราต้องขยายห้าง เพิ่มพื้นที่จนแน่นจาก 8,000 ตร.ม. เป็น 10,000 ตร.ม. แต่เมื่อมีแพลตฟอร์ม maknet ไม่ต้องมุ่งเพิ่มพื่นที่สโตร์แล้ว เพราะแพลตฟอร์มใหญ่กว่ามาก มีสินค้าหลากหลายเพิ่มจากที่สาขาไม่มีโดยเฉพาะนอนฟู้ด จะทำให้ตัวเราใหญ่ขึ้นได้อีกมาก และ maknet จะไม่จำกัดให้บริการแค่ในไทย ขยายไปยังต่างประเทศด้วย ดังนั้น maknet จึงเป็นจิ๊กซอว์สำคัญต่อการเติบโตของแม็คโคร”
ปี 2564 ไทยเผชิญผลกระทบโควิดอย่างหนัก แต่แม็คโครยังสร้างผลการดำเนินงานที่ดี ส่วนปี 2565 ยังมีปัจจัยน่ากังวลทั้งสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน กระทบราคาพลังงานพุ่ง อัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่ไตรมาส 1 กลุ่มลูกค้าโรงแรม ร้านอาหารธุรกิจบริการจัดเลี้ยง(HoReCa) เริ่มกระเตื้องขึ้น และไตรมาส 2 หวังมาตรการผ่อนคคลายของภาครัฐจะทำให้ภาพรวมดีขึ้น