ATP30 รับบริหารรถ "อีวี" ธุรกิจใหม่เครือปตท. ดันรายได้เติบโต
"เอทีพี30" รับบริหารรถอีวีเครือปตท. คาดปีนี้ “อรุณ พลัส” จ่อปล่อยเช่ารถไฟฟ้า "พันคัน" พร้อมตั้งเป้ารายได้ปี 65 เติบโต 25% ทำสถิติสูงสุด รุกให้บริการลูกค้าเพิ่ม-ธุรกิจใหม่หนุน
เป็น “ผู้นำ” ผู้ประกอบการรายใหญ่ให้บริการรับส่งพนักงาน “เขตนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก” (Eastern Seaboard) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการการเดินรถให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาบุคลากร เพื่อรักษาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ความโดดเด่นนี้ผลักดันให้ บริษัท เอทีพี 30 จำกัด (มหาชน) หรือ ATP30 มีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง !!
ทว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะครึ่งปีแรก 2563 ธุรกิจได้รับผลกระทบ สะท้อนผ่านผลการดำเนินงานที่มีรายได้ “ลดลง” กว่า 20-25% หลังทั่วโลกและเมืองไทยใช้มาตรการ “ปิดเมือง” (ล็อกดาวน์) ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงงานปรับลดกำลังผลิตลง ทำให้จำนวนเที่ยวการเดินรถรับส่งพนักงานน้อยลง เนื่องจากภาคส่งออกชะลอตัว การท่องเที่ยวหยุดชะงัก
“ปิยะ เตชากูล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอทีพี 30 จำกัด (มหาชน) หรือ ATP30 ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากผลกระทบ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากบริษัทยังยึดติดอยู่กับการเติบโตในรูปแบบเดิมๆ โอกาสการเติบโตยั่งยืนย่อมยากขึ้น จึงอาศัยช่วงจังหวะเวลาดังกล่าวขยายการลงทุน ด้วยกลยุทธ์เดินแผนเติบโตในการรักษาฐานที่มั่นเดิมในธุรกิจบริการเดินรถรับส่งพนักงาน พร้อมนำจุดแข็งธุรกิจเดิม “ปรับพอร์ตรายได้” (Diversify) รุกสู่ “ธุรกิจใหม่” (New Business) !!
สะท้อนผ่าน รับจ้างบริหารและให้บริการ “แพลตฟอร์มปล่อยเช่ารถไฟฟ้า” (EV) กับ บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EV Me Plus) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ของเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT โดยบริษัทเริ่มดำเนินการให้ตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งนับตั้งแต่เปิดดำเนินการได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้าจำนวนมากที่อยากทดลองขับรถไฟฟ้าก่อนตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้า โดยในแพลตฟอร์มเช่ารถไฟฟ้าดังกล่าวมีรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายยี่ห้อให้เลือกเช่าขับ
ทั้งนี้ บริษัทเริ่มมีรายได้จากธุรกิจบริการและบริหารเช่ารถไฟฟ้าของเครือ ปตท. เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน 1-2% ของรายได้รวม แต่ในปี 2565 คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตามแผนงานของเครือ ปตท. วางเป้าหมายปีนี้เพิ่มรถยนต์ไฟฟ้าให้เช่าเป็นจำนวน 1,000 คัน จากปีที่แล้วมีรถยนต์ไฟฟ้าปล่อยเช่าจำนวน 100 คัน และไตรมาส 1 ปี 2565 ขยับขึ้นมาเป็น 200 คันแล้ว ซึ่งบริษัทกำลังเตรียมเพิ่มบุคลากรมารองรับ
“มองตลาดรถอีวีมีโอกาสเติบโตอีกมหาศาล และตามแผนงานเครือปตท. ที่ต้องการขยายการลงทุนในธุรกิจดังกล่าว ซึ่งเราเป็นผู้รับจ้างบริการและบริหารแพลตฟอร์มปล่อยเช่ารถยนต์อีวี ให้เครือปตท. ดังนั้น ในอนาคตหากปตท. ขยายธุรกิจเราก็ขยายตามไปด้วย รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาการให้บริการรถไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจในอนาคต”
เขา บอกต่อว่า สำหรับธุรกิจให้บริการรถรับส่งพนักงานจากแหล่งที่พักอาศัยในเขตชุมชนไปยังโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2565 บริษัทมุ่งเน้นกลยุทธ์ขยายฐานพื้นที่ให้บริการ พร้อมพัฒนาเทคโนโลยียกระดับความสามารถการแข่งขันเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำ Smart Mobility
โดยบริษัทมีแผนขยายพื้นที่ให้บริการในนิคมอุตสาหกรรมภาคกลาง อาทิ จังหวัดอยุธยา จังหวัดสระบุรี อีกทั้ง มีแนวโน้มการเจราจาลูกค้ารายใหม่เพิ่มเข้ามาในปีนี้ หลังบริษัทมีเครือข่าย “พันธมิตร” ของธุรกิจ อย่าง บริษัท โตโยต้า ทูโช ไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (TTTH) คาดเห็นความชัดเจนการลงทุนในปี 2565 ซึ่งจากแนวโน้มการให้บริการที่เพิ่มขึ้น บริษัทจึงมีแผนเพิ่มจำนวนรถให้บริการในปีนี้ 100-150 คัน คาดใช้งบการลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท
ขณะที่ ช่วงปลายปีที่ผ่านมาบริษัทลงนามสัญญากับลูกค้าใหม่ 2 ราย ประกอบด้วย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC สัญญา 4 ปี จำนวนรถ 22 คัน และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือGPSC สัญญา 3 ปี จำนวนรถ 45 คัน รับส่งพนักงานฝ่ายปฏิบัติการของกลุ่มอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี และ โรงไฟฟ้า อีกทั้ง บริษัท เอ็นเอส-สยามยูไนเต็ดสตีล จำกัด ต่อสัญญา 6 ปี เพิ่มจำนวนรถ 10 คัน เริ่มให้บริการและรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปี 2564
“การดำเนินงานของลูกค้า 3 ราย ส่งผลให้ปีนี้จะมีลูกค้าเพิ่มเป็นจำนวน 54 ราย และส่งผลให้ Backlog ระยะเวลา 3 ปี เพิ่มขึ้นจาก 1,100 ล้านบาท เป็น 1,260 ล้านบาท โดยทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2564-2567”
รวมทั้ง บริษัทมีแผนนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการการเดินรถมากขึ้น โดยพัฒนาแอพพลิเคชั่น และโปรแกรมต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจ ประกอบด้วย 1. อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ 2. บริหารต้นทุนให้กับลูกค้า (จัดการเส้นทางการเดินรถ) 3. พัฒนาระบบปฏิบัติการติดตามการเดินรถ ตรวจเช็คและซ่อมบำรุง 4. ควบคุมต้นทุนของบริษัท ซึ่งหากระบบต่างๆ สมบูรณ์แบบแล้ว บริษัทจะนำการเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้ในการขยายพื้นที่ให้บริการอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 25% แตะ 600 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด (All Time High) และพยายามรักษาอัตรากำไรขั้นต้น 25% และอัตรากำไรสุทธิ 10% ซึ่งเป็นอัตราที่บริษัทเคยทำได้มาก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
ขณะที่ แนวโน้มผลดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2565 บริษัทเตรียมรับรู้รายได้จากการให้บริการรถรับส่งพนักงานเพิ่มจำนวน 55 คัน และอยู่ระหว่างดำเนินการขยายพื้นที่ให้บริการนิคมอุตสาหกรรมภาคกลาง คาดเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 2ปี 2565
สำหรับผลประกอบการปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 495.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 391.73 ล้านบาท จำนวน 104.85 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26.51% และมีกำไรสุทธิ 33.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 28.75 ล้านบาท จำนวน 4.37 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.20%
โดยผลประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากปี2564 บริษัทมีรถที่ให้บริการเพิ่มขึ้นจำนวน 169 คัน ซึ่งถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นประมาณ 30-45 คันต่อปี จากการพัฒนาคุณภาพบริการ ความร่วมมือกับพันธมิตร ส่งผลให้ลูกค้ารายเดิมไว้วางใจใช้บริการจำนวนรถเพิ่มขึ้น และลูกค้ารายใหม่ที่เชื่อมั่นในการใช้บริการของ ATP30
"หลายปีที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นดำเนินธุรกิจด้วยคุณภาพและความปลอดภัยในการให้บริการ ส่งผลให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าและมีจำนวนรถให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้บริษัทจึงมุ่งเน้นขยายฐานพื้นที่ให้บริการ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการดำเนินงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจ พร้อมเพิ่มความสามารถการทำกำไร”
ท้ายสุด “ปิยะ” บอกไว้ว่า การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา แม้บริษัทจะมีกลยุทธ์กระจายกลุ่มลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการรับรู้รายได้ ทำให้ผลดำเนินงานสามารถเติบโตต่อเนื่อง