ซีพีเอฟ ดันนโยบายลดความสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่คุณค่าสู่การผลิตยั่งยืน
ซีพีเอฟ ลดปริมาณการสูญเสียอาหาร ส่งเสริมการนำไปใช้ประโยชน์ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยหนุนประสิทธิภาพการผลิต ตอบโจทย์การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมาย SDGs
นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ประธานคณะทำงานด้านการสูญเสียอาหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร จึงมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยบริษัท
ได้ประกาศนโยบายด้านการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss & Food Waste Policy) เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action ส่งเสริมการลดการสูญเสียอาหารในห่วงโซ่คุณค่า ลดปริมาณอาหารส่วนเกินและขยะอาหารในกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ให้เป็นศูนย์ ในปี 2030 (พ.ศ. 2573)
โดยเริ่มต้นดำเนินการในกิจการประเทศไทย สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เรื่องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (ข้อ 12.3)
“การสูญเสียอาหารและขยะอาหาร เป็นปัญหาเร่งด่วนที่มีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการลดการสูญเสียอาหารยังสามารถช่วยแก้ปัญหาความอดอยากและขาดแคลนอาหารทั่วโลกได้ ซึ่งสอดรับกับเป้าหมาย SDGs ทั้งในเรื่องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน” นายไพโรจน์ กล่าว
นางสาวกุหลาบ กิมศรี รองกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ กล่าวว่า หน่วยธุรกิจต่างๆ ได้ร่วมมือผลักดันการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้
อาทิ โครงการระบบลำเลียงไข่อัจฉริยะ นำระบบอัตโนมัติเข้ามาควบคุมการลำเลียงไข่ เพื่อลดความเสียหายจากการลำเลียงไข่จากฟาร์มไปสู่โรงคัดไข่ และความเสียหายที่เกิดจากกระบวนการคัดไข่ การนำอาหารสูญเสียมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น
การนำเครื่องในไก่ ขนสัตว์ปีก และไข่ไก่ที่เสียหายในระหว่างการผลิต แปรรูปเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ช่วยลดปริมาณของเสียจากกระบวนการผลิตได้เฉลี่ย 120,000 ตันต่อปี และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกำจัดของเสียได้มากกว่า 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
บริษัทฯ ลงทุนสร้างระบบบำบัดน้ำทิ้งที่เป็นระบบปิดของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ฟาร์ม และโรงคัดไข่ เช่น เลือดไก่ ไขมันไก่ และไข่เสียหาย เพื่อนำอินทรียวัตถุที่เจือปนในน้ำทิ้งไปผลิตเป็นพลังงานชีวภาพเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 14,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 231,000 ต้น ในช่วงระยะเวลา 10 ปี เป็นต้น รวมทั้งยังช่วยลดการบำบัดของเสียที่ต้องการกำจัดอีกด้วย
ทั้งนี้ซีพีเอฟ ได้เริ่มศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำแผนการเก็บรวบรวมข้อมูลการสูญเสียอาหาร ตามแนวทางการเก็บข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มาตั้งแต่ปี 2020 เพื่อประเมินการสูญเสียอาหารและหามาตรการลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า มีโครงการนำร่องในผลิตภัณฑ์เนื้อไก่และไข่ไก่ และในปี 2021 ได้เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณการสูญเสียอาหารของผลิตภัณฑ์เนื้อไก่และไข่ไก่ ในแต่ละกิจกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าของซีพีเอฟอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาจุดวิกฤตของการสูญเสียอาหาร นำไปสู่การจัดทำโครงการเพื่อป้องกันและลดการสูญเสียอาหารให้น้อยลง
“บริษัทฯ ติดตามและเก็บข้อมูลปริมาณการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิต ซึ่งปัจจุบัน ดำเนินการและเก็บข้อมูลครอบคลุมฟาร์มไก่เนื้อ ฟาร์มไก่ไข่ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ และโรงคัดและบรรจุไข่ ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การขนส่ง การผลิต และการจัดเก็บตามแนวทางขององค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง (ตั้งแต่ปี 2560-2564)
ในขณะเดียวกัน ปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารที่นำไปใช้ประโยชน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้นจากการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาใช้” นางสาวกุหลาบ กล่าว
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ เสริมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการจัดการขยะอาหาร และบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งต่อบุคลากรภายในองค์กรและผู้บริโภค