คิบบุตซ์-โมชาฟ นิคมการเกษตรที่เติบโตด้วย Innovation ในประเทศอิสราเอล (6)
“หุบกะพง” เป็นสหกรณ์ที่สมบูรณ์แบบ พื้นที่จำนวน 7,563 ไร่ ได้จัดแบ่งให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากระบบชลประทาน อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำฝน พื้นที่ส่วนที่เหลือ 1,000 ไร่
โครงการร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล “โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อการพัฒนาชนบท(หุบกะพง)” ที่เริ่มตั้งแต่ปี พศ 2509 เป็นโครงการพระราชประสงค์โครงการแรกในการพัฒนาชนบทของประเทศไทย พื้นที่หุบกะพงแห้งแร้งมากสภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ในปี พศ 2510 ได้คัดเลือกเกษตรกร 2 ครอบครัว ของนายเฉลิมและนางเดือนคนในพื้นที่เข้ามาทดลองผลิตและจำหน่ายพืชผลต่าง ๆ
โดยจัดสรรที่ดินให้ครอบละ 25 ไร่ แบ่งเป็นแปลง 7 ไร่ ปลูกพืชผักและพืชสวน เช่น มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง มะม่วง ชมพู่ และพืชอื่น ๆ ซึ่งเป็นพืชรับน้ำและชลประทาน ที่เหลือ 18 ไร่ ปลูกพืชน้ำฝน เช่น ข้าวโพด อ้อย ข้าวฟ่าง เป็นต้น เมื่อประสบความสำเร็จ ปี พศ 2511 จึงได้มีการอพยพชาวสวนผักล่าง 81 ครอบครัว รวมกับเกษตรกรอื่น รวมทั้งสิ้น 120 ครอบครัว เข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่ โดยจัดสรรให้ครอบครัวละ 25 ไร่
เกษตรกรในโครงการ ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” ในปี พ.ศ. 2514 เพื่อร่วมกันดำเนินงานในลักษณะธุรกิจ เช่นการซื้อเครื่องอุปโภคมาจำหน่ายแก่สมาชิก การให้สินเชื่อแก่เกษตรกร ปัจจุบันหมู่บ้านตัวอย่างหุบกะพง จัดเป็นสหกรณ์ที่สมบูรณ์แบบ การจัดหาทุนของสหกรณ์มีหลายวิธี เช่น การให้สมาชิกเข้าหุ้นร่วมในสหกรณ์ การจัดหาสินเชื่อให้เกษตรกร สหกรณ์ดำเนินธุรกิจโดยให้สมาชิกซื้อวัสดุการเกษตร เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ในราคาที่เป็นธรรม งานที่สำคัญมากของสหกรณ์คืองานทางด้านการตลาด รวบรวมพืชผลของสมาชิกจำหน่ายให้กับพ่อค้า และเป็นร้านค้าเพื่อให้ประชาชนได้ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง สหกรณ์มีบริการเรื่องการเตรียมดิน จัดหาเครื่องทุ่นแรง เช่น รถแทรกเตอร์ มาให้การปรับดินแก่สมาชิกในราคาพิเศษ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต
โครการสหกรณ์หุบกะพง สามารถยกฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีอาชีพที่มั่นคง มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้พระราชทาน พระบรมราโชวาท เมื่อวันศุกร์ ที่ 19 พฤษภาคม พศ 2515 มีความส่วนหนึ่งว่า
“เป็นที่น่ายินดีมากที่บัดนี้หมู่บ้านตัวอย่างนี้ได้เป็นสหกรณ์กันทำงานเป็นกลุ่มเป็นก้อน และอยู่ร่วมกันทำให้มีแรงมากคือร่วมแรง มาเพื่อการอาชีพให้เจริญงอกงาม ซึ่งเป็นสหกรณ์ในรูปอเนกประสงค์นั้นก็จะยิ่งได้ผลดี แต่ต้องเข้าใจมากขึ้น แล้วก็ต้องมีความอดทน ความขยัน แล้วก็มีความสามัคคี คือว่าทุกคนที่อยู่ที่นี่ ณ ที่นี้ก็ต้องช่วยกันไม่เบียดเบียนกัน คนไหนที่เดือดร้อนก็จะต้องช่วยเหลือ”
ปัจจุบันหมู่บ้านตัวอย่าง “หุบกะพง” เป็นสหกรณ์ที่สมบูรณ์แบบ พื้นที่จำนวน 7,563 ไร่ ได้จัดแบ่งให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำจากระบบชลประทาน อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำฝน พื้นที่ส่วนที่เหลือ 1,000 ไร่ ซึ่งมีเขตติดต่อกับภูเขาได้กันไว้ให้กรมป่าไม้ปลูกป่าทดแทน ตามโครการต้นน้ำตามพระราชประสงค์ และมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหุบกะพง อ่างเก็บน้ำห้วยทราย-หุบกะพง และอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว เพื่อรักษาความชุ่มชื้น และใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรและยังเป็นที่เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาน้ำจืดต่าง ๆ
หมู่บ้านหุบกะพงวันนี้ นอกจากจะเป็นที่อยู่ของเกษตรแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตร เป็นศูนย์กลางรวบรวมและจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ที่มีผู้มาเยือนไม่ขาดสาย เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางการเษตรที่สำคัญ ที่นักเรียนนักศึกษาและเกษตรกรทันสมัย
จะต้องแวะไปเรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปปรับใช้ในการทำการเกษตรต่อไป…