AI กับการรายงานข้อมูลความยั่งยืน
การใช้ประโยชน์ GenAI ในการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการผ่านการดำเนินการทางข้อมูลในรูปของรายงานดิจิทัล จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
กระแสเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในแวดวงความยั่งยืน เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่องค์กรในภาคเอกชนต่างเริ่มเห็นความสำคัญและจำเป็นต้องพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับเตรียมพร้อมปรับตัวเพื่อรับกับแนวโน้มที่เกิดขึ้น
S&P Global คาดการณ์ว่า ภาคธุรกิจจะยกระดับการวัดและจัดการประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ เช่น ปริมาณการใช้พลาสติกตลอดห่วงโซ่คุณค่า ภายใต้มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นข้อบังคับในบางประเทศ ขณะที่การประเมินผลกระทบในห่วงโซ่คุณค่ามีความซับซ้อน ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องมีระเบียบวิธีที่โปร่งใสและการรวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพ
ประเด็นเรื่องการพึ่งพิงเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้ไปเพิ่มแรงกดดันที่ต้องมีระบบกำกับดูแลที่เข้มแข็งเพื่อเป็นหลักประกันในการจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงต่อการมีอยู่ของปัญญาประดิษฐ์
จากแนวโน้มที่ภาคธุรกิจเริ่มจับตาการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในรอบล่าสุด สิ่งที่ทั้งภาคธุรกิจรวมถึงภาครัฐต่างต้องเผชิญในระยะเวลาอันใกล้นี้ คือ แรงกดดันที่จะต้องทำให้แน่ใจว่าได้มีการกำกับดูแลอย่างเข้มแข็งในการจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงที่มากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สามารถใช้ช่วยสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนและนำไปสู่ประสิทธิภาพการดำเนินงานแบบใหม่ อาทิ การค้นพบวิธีใหม่ ๆ ในการติดตามและทำความเข้าใจกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จากความสามารถของเทคโนโลยีในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และสามารถลดกำแพงต้นทุนที่ใช้ติดตามและรายงานประเด็น ESG ให้ต่ำลงได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดสัมมนาในรูปแบบ Webinar หัวข้อ “Innovating Sustainability: the Generative AI Revolution” ให้แก่องค์กรสมาชิกในประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (SDC) ที่ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 160 องค์กร
ในการสัมมนาครั้งนี้ ได้มีการแนะนำร่าง GRI Sustainability Taxonomy ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative) เพื่อใช้สำหรับการจัดทำรายงานดิจิทัล หรือ Digital Reporting โดยใช้ภาษา XBRL (eXtensible Business Reporting Language) สำหรับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน รองรับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของ IFRS (International Financial Reporting Standards) และบทบัญญัติการรายงานข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (CSRD) ของสหภาพยุโรป
การเข้าถึงข้อมูลความยั่งยืนดังกล่าว จะเอื้อให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก Generative AI ในการร่างรายงานความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยองค์กรผู้จัดทำรายงานลดภาระและเวลาในการจัดทำรายงาน รวมทั้งช่วยให้องค์กรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาคุณภาพของข้อมูลที่เปิดเผย ตลอดจนเพิ่มผลิตภาพของการรายงานจากการมีระบบข้อมูลที่แข็งแกร่ง แม่นยำ และครบถ้วน
อย่างไรก็ดี การรับเอาปัญญาประดิษฐ์มาใช้อย่างกว้างขวาง อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการชะงักงันด้านแรงงาน การละเมิดลิขสิทธ์หรือความเป็นส่วนตัว ทำให้การมีข้อปฏิบิติทางจริยธรรมและการกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด
กฎหมายและกฎระเบียบว่าด้วยการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยสหภาพยุโรปได้อนุมัติกฎหมายว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI Act) เป็นฉบับแรกของโลก เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2567 โดยกฎหมายฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม และปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานในเวลาเดียวกัน
กฎหมายว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ของสหภาพยุโรป แบ่งหมวดหมู่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ตามระดับความเสี่ยง ได้แก่ 1) AI ที่ไม่สามารถยอมรับได้ (Unacceptable AI) ห้ามใช้งานในสหภาพยุโรป เช่น การใช้ AI ในการให้คะแนนบุคคล (social scoring) โดยหน่วยงานรัฐ 2) AI ที่มีความเสี่ยงสูง (High-risk AI) ผู้ให้บริการจะต้องนำระบบ AI ขึ้นทะเบียนและเข้ารับการตรวจสอบรับรองก่อนนำออกสู่ตลาด เช่น เครื่องจักร ของเล่น อุปกรณ์วิทยุ และ 3) AI ที่มีความเสี่ยงต่ำ (Limited-risk AI) หรือไม่มีความเสี่ยง (No-risk AI) สามารถใช้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข เช่น แอปพลิเคชันมือถือ วีดีโอเกม ระบบกรองสแปม เป็นต้น
โดยข้อบังคับทางกฎหมาย จะครอบคลุมการใช้งานและการควบคุมระบบ AI ในประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรปหลายมิติ อาทิ 1) ห้ามส่งออกระบบ AI เพื่อการกระทำต้องห้ามตามร่างกฎหมายฯ 2) บังคับใช้ข้อกำหนดต่าง ๆ โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ให้บริการระบบ AI 3) ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการสร้างผลงานจาก AI ที่จะนำเข้ามาใช้ในเขตสหภาพยุโรป และ 4) หากระบบ AI ที่มีผู้ดำเนินการอยู่นอกเขตมีแนวโน้มกระทบต่อบุคคลในเขตสหภาพยุโรป จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเช่นเดียวกัน
ในอนาคตอันใกล้ การใช้ประโยชน์ GenAI ในการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการผ่านการดำเนินการทางข้อมูลในรูปของรายงานดิจิทัล จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของบุคลากรในแวดวงความยั่งยืนที่ไม่พร้อมปรับตัวนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ประโยชน์ จนอาจเกิดการทดแทนตำแหน่งงานทางวิชาชีพด้านความยั่งยืนไม่มากก็น้อย