ความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ กับชะตากรรมของ SME ไทย…

ความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ กับชะตากรรมของ SME ไทย…

SME ไทยกำลังเผชิญชะตากรรมรอบด้าน หลายองค์กรทั้งหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม รวมถึงรัฐบาลทุกสมัย ประกาศว่าจะต้องช่วยให้ SMEเข้าถึงแหล่งทุน

ภาพรวมผลการดำเนินงานของ 10 ธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาสแรกของปี 2567 จำนวน 63,960 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 24.07% จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ชึ่งมีกำไร 51,551 ล้านบาท จนทำให้ประชาชนกังขาถึงบทบาทของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำหนดนโยบายการเงิน ในภาวะที่ลูกหนี้จำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ได้รับผลกระทบ จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ลดดอกเบี้ยนโบาย กำไรของธนาคารพาณิชย์ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีเป็นเรื่องที่ประชาชนยากจะทำความเข้าใจ

ในไตรมาส 2 ของปี 2567 ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ยังคงมีกำไรสุทธิรวม 63,846 ล้านบาท และครึ่งปี 2567 มีกำไรสุทธิรวมทั้งหมด 126,422 ล้านบาท ถึงแม้เศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดีขึ้น แต่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตตามส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) และการบริหารค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ถึงแม้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นจากหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์จนถึงปลายปี เชื่อว่าธนาคารทุกแห่งจะมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้า SME คงยากในการเข้าถึงเงินทุนในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

คำถามของ สรกล อดุลยานนท์ “หนุ่มเมืองจันท์” ในไตรมาสแรกที่ตั้งข้อสังเกตุว่าเป็นเรื่องผิดปกติที่เศรษฐกิจไทยไม่เติบโต แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยกลับมีกำไรสูงลิ่ว เนื่องจาก NIM เพิ่มขึ้นจากเดิม คงจะยังเป็นคำถามที่ต้องถามต่ออีกในไตรมาสนี้ ผมเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังมีความเข้าใจว่า NIM คือการนำดอกเบี้ยเงินกู้มาลบดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งตามภาวะดอกเบี้ยปัจจุบันจะสูงถึง 6% แต่ NIM จะต้องคำนวณต้นทุนอื่น ๆ ของธนาคารพาณิชย์เข้าไปด้วย เช่น ต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนการดำเนินการ และต้นทุนความเสี่ยงจากการให้กู้ กรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ 

ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ค่าเฉลี่ย NIM ของธนาคารพาณิชย์ไทย ในปี 2566 อยู่ที่ 2.96% และจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ในครึ่งปีแรกของปี 2567 NIM ของ 5 ธนาคารพาณิชย์อันดับใหญ่ เช่น KBANK 3.73% KTB 3.35+0.25% BBL 3.05+0.17% SCB 3.83+025% BAY 4.31+0.79% จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แม้เศรษฐกิจจะไม่ดี NPL เพิ่มขึ้น 

ธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น แต่ยังคงฟันกำไรครึ่งปีแรกถึง 1.26 แสนล้านบาท บทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่สถาบันการเงินหลายแห่งประสบภาวะวิกฤตปิดกิจการ ทำให้สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการบริหารจัดการเพื่อให้ธนาคารมั่นคง ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ฝากเงิน แต่ภาวะวิกฤตของเศรษฐกิจไทยขณะนี้เป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ควรมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วย

ข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พบว่า ปี 2566 สัญญานเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อ SME ภาคการผลิตและการจ้างงานลดจำนวนลง ความเชื่อมั่นในเดือน พค 2567 รายภูมิภาคติดลบทั้งหมด ภาคเหนือ -1.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ -1.4 ภาคตะวันออก -2.5 ภาคกลาง -1.8 กรุงเทพและปริมณทล -1.7 ภาตใต้ -1.5 

SME ไทยกำลังเผชิญชะตากรรมรอบด้าน หลายองค์กรทั้งหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม รวมถึงรัฐบาลทุกสมัย ประกาศว่าจะต้องช่วยให้ SMEเข้าถึงแหล่งทุน แต่ไม่บอกว่าจะทำอย่างไร เพราะธนาคารพาณิชย์เขาเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น Social Enterprise เป็นคำพูดหล่อ ๆ ของธนาคารพาณิชย์ ที่ SME จะต้องเผชิญชะตากรรมด้วยความยากลำบาก ไม่รู้จะพึ่งใครได้…