‘แอ๊ด คาราบาว’ ลั่นท้ารบเจ้าสัว ทลายทุนผูกขาดน้ำเมา แสนล้าน!

‘แอ๊ด คาราบาว’ ลั่นท้ารบเจ้าสัว  ทลายทุนผูกขาดน้ำเมา แสนล้าน!

ศึกน้ำเมา "เหล้า-เบียร์" เดือดทะลุปรอท จากการประกาศยุบวงคาราบาว การเล่นคอนเสิร์ตทิ้งทวน กลับกลายเป็นการ "ท้ารบ" ของ "แอ๊ด คาราบาว" ที่ขอช่วย "พี่เถียร" นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรคาราบาว พร้อมเดิมพันทลายทุนผูกขาดของ "เจ้าสัว"

จากคอนเสิร์ตเพื่อทิ้งทวนการ “ยุบวงคาราบาว” กลายเป็นการประกาศต่อกรตลาดน้ำเมา “เหล้า-เบียร์” ของ “แอ๊ด คาราบาว” หรือยืนยง โอภากุล ผู้เป็นศิลปิน นักร้องเพลงเพื่อชีวิต ที่ผันตัวเป็น “นักธุรกิจ” ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ “คาราบาวแดง” และอาณาจักรยังขยายใหญ่สู่ “ธุรกิจสุรา” หรือเหล้า และล่าสุดคือ “เบียร์” แบรนด์ “คาราบาว” และ “ตะวันแดง

ภายใต้อาณาจักร “คาราบาวกรุ๊ป” ที่การก่อตั้งมาจาก 3 สหาย ได้แก่ “เสถียร เสถียรธรรมะ-ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ” และ “แอ๊ด คาราบาว” ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่มีแฟนเพลงรักและศรัทธามากที่สุดในประเทศไทย นั่นคือสิ่งที่บริษัทบอกเล่าที่มา

กว่า 20 ปี อาณาจักรคาราบาวเบ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และทุกธุรกิจทั้งเครื่องดื่มชูกำลังค้าปลีก เหล้า และเบียร์ ฯ กำลังจะทำรายได้ระดับ “แสนล้านบาท” ในปี 2567 เป็นสิ่งที่ “เสถียร” กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ

‘แอ๊ด คาราบาว’ ลั่นท้ารบเจ้าสัว  ทลายทุนผูกขาดน้ำเมา แสนล้าน! ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ-เสถียร เสถียรธรรมะ-แอ๊ด คาราบาว

 

เปิดวาทกรรม “แอ๊ด คาราบาว” ไม่ยุบวงแล้ว!

“ประเทศไทยมีเจ้าสัวอยู่ไม่กี่.. ที่ผูกขาด ผมอยากให้..รู้มั่ง..พวกเรายาจกแบบนี้จะรบกับ.. คอยดูแล้วกัน” นี่เป็นหนึ่งในประโยคที่ “แอ๊ด คาราบาว” ประกาศบนเวทีคอนเสิร์ต “ล้อมวงคาราบาว” เพื่ออำลาวง เนื่องจากเหล่าศิลปินล้วนอายุมากแล้ว ต้องการพักผ่อน

ทว่า กลับพักไม่ได้ เพราะธุรกิจของ “พี่แอ๊ด คาราบาว” ที่เจ้าตัวไม่ได้ออกหน้านัก อย่าง “เบียร์” กำลังเจออุปสรรคใหญ่กว่าครั้งไหนๆ โดยเฉพาะการต้องต่อสู้กับ “เจ้าสัว” และกิจการน้ำเมาที่ดูเหมือนเป็น “ทุนผูกขาด” เพราะมีผู้เล่นไม่กี่รายทำตลาด แบบ Oligopoly นั่นเอง

วาทกรรมเด็ดยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะ “พี่แอ๊ด” ย้ำต่อว่า “ผมตั้งใจจะหยุดวงจริงๆ หลังวันที่ 4 เมษายน จะไม่มีคาราบาว แต่มีเรื่องที่ทำให้ผมแค้น ผมทนไม่ได้กับธุรกิจของประเทศไทย ที่ผูกขาดมานานแล้ว” เป็นการกล่าวด้วยความรู้สึกคับแค้น อารมณ์คุกรุ่น

 

ท้ารบน้ำเมาเจ้าสัว ทลายทุนผูกขาด!

“เวลาผมไปเล่น(คอนเสิร์ต)ที่ไหน ขอเอาเบียร์เรา(แบรนด์คาราบาว-ตะวันแดง)ไปขายได้มั้ย แต่มีเบียร์ยี่ห้อหนึ่งไม่ยอม หากร้านนี้เอาเบียร์เราไปขาย จะถอนเบียร์นั้นออก มันมีอำนาจ ผูกขาดมานานแล้ว ผมขายเบียร์ไม่ได้เลย ทั้งที่เป็นครั้งแรกที่คนไทยได้ดื่มเบียร์เยอรมัน เบียร์ระดับโลก..ผมจึงขอฮึดสู้”

ยังไม่จบ เพราะ “พี่แอ๊ด” ลั่นท้ารบด้วยว่า จะขอหยุดพักเดือนเมษายน แล้วจะกลับมาใหม่ “Guจะมาสู้กับMueng ผมต้องช่วยพี่เถียร เราลงทุนโรงเหล้าเบียร์ 8,000 ล้านบาท ไม่ใช่เงินเล็กๆ เงินผมด้วย”

 

3 ยักษ์ใหญ่ ‘2 มหาเศรษฐี’ ครองน้ำเมาแสนล้าน

ตลาดน้ำเมา “เหล้า-เบียร์” มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท จาก 3 ยักษ์ใหญ่ หากเจาะลึกแต่ละหมวดหมู่(Category) จะเห็นว่าตลาดสุราหรือเหล้ามูลค่า “แสนล้านบาท” เฉพาะผู้เล่นรายเดียวอย่าง “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน)” ของ "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ราชันย์น้ำเมา สร้างรายได้จากเหล้าในปี 2566 กว่า 1.19 แสนล้านบาท และ “กำไรสุทธิ” กว่า 2.24 หมื่นล้านบาท

‘แอ๊ด คาราบาว’ ลั่นท้ารบเจ้าสัว  ทลายทุนผูกขาดน้ำเมา แสนล้าน!

เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี อาณาจักรน้ำเมาแสนล้าน

ตลาดเหล้าโดยเฉพาะเหล้าขาว “ไทยเบฟ” ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่เพียงรายเดียวที่ครองตลาดมายาวนาน ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 95% กระทั่งปี 2560 “เสถียร” กลายเป็นนักชกข้ามรุ่นในสังเวียนน้ำเมา ด้วยการทุ่มทุนหลักหลายพันล้านบาท สร้างโรงงานผลิตสุราเพื่อชิงเค้กก้อนโต

ปัจจุบันตลาดสุรา ไม่ได้มีเพียง “เสถียร” แต่ “ค่ายสิงห์” หรือ “บุญรอดบริวเวอรี่” ที่มีแม่ทัพ "ภูริต ภิรมย์ภักดี" ได้โดดลงสนามเช่นกัน ด้วยการลุยตลาดสก็อตช์วิสกี้

ขณะที่น้ำเมาสีอำพันหรือ “ตลาดเบียร์” มูลค่า 2.6 แสนล้านบาท มี 3 ยักษ์ ยืนหยัดเกาะกุมขุมทรัพย์อย่างเหนียวแน่น ได้แก่ ค่ายสิงห์ มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอหลากหลายทั้ง “ลีโอ เบอร์ 1” ทำตลาดมา 17 ปี ปัจจุบันครองส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 50% ยังมีสิงห์ มายเบียร์ ฯ ที่ทำยอดขาย “แสนล้านบาท”

เบอร์รองคือ “เบียร์ช้าง” แห่งไทยเบฟ และบริษัทมีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอไม่น้อยหน้า เฟเดอร์บรอย และอาชา ฯ ในปี 2566 ยอดขายเบียร์ไทยเบฟทำเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท

อีกบิ๊กเนม “ไฮเนเก้น” แบรนด์ระดับโลก ที่ทำตลาดมานานกว่า 20 ปี ยังเลือกครองเซ็กเมนต์ “พรีเมียม” และครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 90%

‘แอ๊ด คาราบาว’ ลั่นท้ารบเจ้าสัว  ทลายทุนผูกขาดน้ำเมา แสนล้าน! ไม่ยุบวง และขอท้ารบตลาดเหล้า-เบียร์ ทลายทุนผูกขาดเจ้าสัว

 

ทุนใหญ่แลกหมัดคนละตุ้บ!

ปี 2566 “เสถียร” ประกาศใช้เงินหลายพันล้านบาท เพื่อผลิตเบียร์ 2 แบรนด์ “คาราบาว-ตะวันแดง” และออกสินค้ามาแล้ว 5 รายการ ทั้งประเภทลาเกอร์ ดุงเกล(เบียร์ดำ) และไอพีเอ

โจทย์ตั้งแต่ออกสตาร์ททำตลาดเบียร์ “เสถียร” บอกว่าเจอรับน้องหลากหลายมิติ โดยเฉพาะการสกัดช่องทางจำหน่ายทั้ง On Premise หรือผับบาร์ ร้านอาหาร สถานบันเทิงต่างๆ รวมถึงร้านค้าทั่วไป ที่หาเอเยนต์ใหญ่ประจำถิ่นยาก จนประกาศรับตัวแทนจำหน่าย จนล่าสุดต้องเปลี่ยนเกมใช้ห้างค้าปลีก “ซีเจ มอร์” นับพันสาขา เป็นช่องทางขาย รวมถึงร้านค้าโชห่วย “ถูกดี มีมาตรฐาน”

ล่าสุดยังใช้กลยุทธ์ “ราคา” ที่ยอมหั่นราคาขายแบบส่ง หรือยกลัง กระตุ้นการซื้อ ผลักดันการเติบโต

-หลังจากทำตลาดเบียร์มา 5 เดือน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ “ผู้บริโภคหาซื้อยาก” ทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้อาจไปถึงล่าช้า แต่ไม่ต้องปรับแผน โดยปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

-ช่องทางจำหน่ายเป็นจุดสลบจุดตาย จะทำเบียร์ให้สำเร็จ แพ้-ชนะ สู้กันที่ On Premise ถ้าทำตรงนี้ไม่ได้ เราไม่ชนะ

-“คนไทยได้ดื่มเบียร์ 5 รสชาติ เพราะมีคนอย่างผม พูดแบบให้น่าหมั่นไส้ก็คือ เพราะรวยแล้ว เวลาทำก็ไม่กลัวเจ๊ง! กล้าเจ๊ง! เจ๊งอีกหน่อยก็ไม่เป็นไร กล้าที่จะมาลงทุน แต่คนทั่วไป ไม่มีโครงข่าย ใครจะมาลงทุนทำเบียร์แบบนี้ กฎหมายไม่เอื้อให้เกิดการแข่งขัน กฎหมายบางอย่างเข้มจนรายใหม่เกิดไม่ได้”

-เพราะผู้เล่นรายใหญ่ที่ “ผูกขาด” ทำให้ตลาดไม่เกิดการไม่พัฒนา ผลิตภัณฑ์จะไม่มีความหลากหลายตอบสนองคอทองแดง นอกจากไม่แข่งขันในตลาด ยังก่อให้เกิดการไม่แข่งขันกับตัวเองด้วย

-เรากำลังเจอคู่แข่งตั้งการ์ดช่องทาง On Premise แต่ยังมีร้านอาหาร หมูกระทะ ร้านลาบ-ส้มตำ อีกหลายแสนร้านให้เข้าไปแบ่งพื้นที่ทำเงิน คุณจะกันผมได้ทุกร้านเหรอ วันนี้คุณยกการ์ดไว้ ผมไม่เข้า แล้วจะยกการ์ดไปทุกร้านเหรอ

ข้างต้นเป็นตัวอย่าง “อุปสรรค” ที่ “เสถียร กำลังเผชิญ

‘แอ๊ด คาราบาว’ ลั่นท้ารบเจ้าสัว  ทลายทุนผูกขาดน้ำเมา แสนล้าน!

ก่อนหน้านี้ เมื่อมีเบียร์น้องใหม่ทำตลาด เจ้าสัวน้อย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” แม่ทัพค่ายยักษ์ใหญ่ไทยเบฟ เคยให้ความเห็นในงานแถลงแผนธุรกิจประจำปี 2566-67 ว่า มีโอกาสได้เจอคุณอาเสถียร ยังเอ่ยถึงเลยว่าที่ท่านตัดสินใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจเบียร์ และกำลังออกสินค้าตัวใหม่ เป็นเรื่องที่ดี และเป็นการสร้างสรรค์ในเรื่องแข่งขันของตลาด ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์

“ตราบใดที่เป็น Healthy Competition มองว่าการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ เราคงบอกไม่ได้ว่าเราเห็นการแข่งขันเป็นเรื่องที่ไม่ดี ขณะที่ในการทำธุรกิจเราต้องปรับตัวตลอดเวลา โดยเฉพาะการเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค เพิ่มขีดความสามารถขององค์กร การแข่งขันเป็นเรื่องปกติ ที่สุดแล้วต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ กติกาเดียวกัน ไม่งั้นลำบาก”

ฟากค่ายบุญรอดฯ เพิ่งโหมแคมเปญการตลาดครั้งใหญ่ของแบรนด์ “ลีโอ” ด้วยการทุ่มงบ 150 ล้านบาท ลุยทำมิวสิค มาร์เก็ตติ้ง จัดเต็มกิจกรรม คอนเสิร์ตผ่านช่องทาง On Premise ถึง 400 งานทั่วไทย และเพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อน

‘แอ๊ด คาราบาว’ ลั่นท้ารบเจ้าสัว  ทลายทุนผูกขาดน้ำเมา แสนล้าน!

ทว่า เมื่อถามถึงการสกัดน้องใหม่ แม่ทัพการตลาด “ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล” Chief Marketing Officer บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด แสดงทัศนะว่า

การมีแบรนด์ใหม่เข้ามาในตลาดว่า มีผลทำให้แบรนด์ที่อยู่เดิมต้องมีความตื่นตัวและทำงานอย่างรอบคอบมากขึ้น และในอีกด้านจะร่วมกระตุ้นทำให้ตลาดเบียร์โดยรวมให้มีการเติบโตมากขึ้น

ส่วนที่มีกระแสข่าวมีบางแบรนด์การปิดกั้นช่องทาง ออนพรีมิส ไม่น่าจะเป็นในแบบนั้น เพราะทุกแบรนด์ต่างมีโอกาสในการทำตลาดและขยายช่องทางนี้ โดยภาพรวมช่องทางออนพรีมิสในปีนี้มีร้านค้ากลับมาเปิดให้บริการในทั่วประเทศจำนวนมาก ตามแรงหนุนของตลาดท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัว ขณะที่ ลีโอ เป็นแบรนด์ผู้นำและอยู่ในตลาดมานาน จึงได้ข้อเสนอพิเศษจากร้านค้าต่างๆ ในช่องทางนี้อยู่นี้แล้ว รวมถึงแบรนด์เบอร์อื่นๆ ในตลาด จะได้ข้อเสนอต่างๆ ที่แตกต่างกันไป

เพราะตลาดน้ำเมามูลค่ามหาศาล “แสนล้านบาท” เมื่อมีน้องใหม่ ทำให้สมรภูมิเดือดยิ่งกว่าเดิม ส่วนผู้เล่นรายใดจะชนะหรือปราชัยให้ “คู่แข่ง” ต้องติดตามกันยาวๆ เพราะเดิมพันครั้งนี้สูงยิ่งนัก

 

อ่าน เบียร์คาราบาว-ตะวันแดง ถูกตีโอบจากเจ้าใหญ่

อ่าน "ลีโอ" ไม่รับน้อง แค่เพิ่มงบ อัดอีเวนต์อีก 50% รุกตลาดเบียร์

อ่าน สงครามน้ำเมาเดือด! สิงห์-ช้าง-ไฮเนเก้น รุมรับน้องใหม่