'สภาพัฒน์' หั่นกรอบ GDP โตไม่เกิน 3.2% รับสถานการณ์ความขัดแย้ง - โลกแบ่งขั้ว

'สภาพัฒน์' หั่นกรอบ GDP โตไม่เกิน 3.2% รับสถานการณ์ความขัดแย้ง - โลกแบ่งขั้ว

สศช.เผยจีดีพี ไตรมาส 2 บวก 2.5% ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นต่อเนื่องจากช่วงโควิด จับตาความขัดแย้งต่างประเทศ โลกแบ่งขั้ว การขึ้นดอกเบี้ย ราคาน้ำมันทรงตัวสูง ปรับกรอบจีดีพีจาก 2.5-3.5% เป็น 2.7-3.2% รับปัญหาขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แนะธนาคารพาณิชย์ตรึงดอกเบี้ยช่วยรายย่อย

ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กลางมาเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับประมาณการกรอบบนลง โดยในปี 2565 ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ปีนี้เป็น 2.7-3.2% ต่างจากประมาณการเดิม 2.5-3.5% ที่แถลงไว้เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2565

ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 2565 ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของที่แล้ว เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่จีดีพีเติบโต 2.3% ทำให้ในครึ่งแรกปีนี้ เศรษฐกิจขยายตัว 2.4%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวจากหลายส่วน ได้แก่ การอุปโภค บริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.9% เนื่องจากการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี และการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ นอกจากนั้นภาคการส่งออกบริการเติบโตสูงถึง 54.3% ตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวมากขึ้นทำให้ภาคเศรษฐกิจในกลุ่มโรงแรมและภัตตาคารที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยว ส่วนภาคการส่งออกเติบโตได้ 4.6% และการลงทุนรวมลดลง 1% มาจากการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.3% แต่การลงทุนภาครัฐลดลง 9.0%

 

ปรับ“จีดีพี”รับโลกป่วน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.เปิดเผยว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ครั้งนี้ 2.7-3.2% ยังคงค่ากลางที่ 3% โดยปรับกรอบบนลงเล็กน้อยจาก 3.5% เหลือ 3.2% เพื่อรองรับสถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากสถานการณ์สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย รวมทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งที่ขยายตัวออกนอกภูมิภาคยุโรป อย่างกรณีไต้หวันที่เพิ่งเกิดขึ้นซึ่งจะกระทบต่อบรรยากาศและการค้าของโลกซึ่งอาจกระทบกับภาคการส่งออกของไทยได้

\'สภาพัฒน์\' หั่นกรอบ GDP โตไม่เกิน 3.2% รับสถานการณ์ความขัดแย้ง - โลกแบ่งขั้ว

“สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและเริ่มขยายวงออกจากภูมิภาคยุโรปมาพื้นที่อื่น เช่น ทะเลจีนตะวันออก จะเกิดผลกระทบต่อซัพพลายเชน และบางอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบมาก เช่น การขาดแคลนชิปที่จะกระทบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า แต่เป็นโอกาสของไทยที่จะดึงอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังส่งผลต่อระดับราคาพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติ และราคาน้ำมันอาจเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากหากมีการคว่ำบาตรเพิ่มเติมทำให้ราคาผันผวนและราคาน้ำมันตลาดโลกอาจทำให้ราคากลับมาเพิ่มสูงได้ในบางช่วงเวลาโดย สศช.คงประมาณการราคาน้ำมันเฉลี่ยปีนี้บาร์เรลละ 95-105 ดอลลาร์

 

ห่วง“สหรัฐ-จีน”ขัดแย้งมากขึ้น

นอกจากนี้ สศช.ได้ประเมินผลกระทบความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีนต่อไทย ซึ่งจีนประกาศซ้อมรบต่อ 1 เดือน ระหว่างวันที่ 8 ส.ค.-8 ก.ย.2565 อาจกระทบขนส่งทางเรือเข้า-ออกไต้หวัน

รวมทั้งจีนประกาศคว่ำบาตรทางการค้ากับไต้หวัน โดยส่วนหนึ่งของมาตรการได้ห้ามส่งออกทรายธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไต้หวันที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกมากกว่า 70% และจีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สัดส่วน 46% ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดของไต้หวัน

สำหรับการประเมินผลต่อเศรษฐกิจไทยครั้งนี้ สศช.มองผลกระทบ 4 ด้าน ดังนี้

1.การขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ ในกรณีปิดล้อมน่านน้ำไต้หวันกระทบการส่งออกไทยไต้หวัน ซึ่งมูลค่าการส่งออกปี 2564 อยู่ที่ 4,673 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 1.7% ของการส่งออกสินค้าไทยทั้งหมด และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของไทย

2.ผลกระทบห่วงโซ่อุปทาน จากการที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิตแผงวงจรไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก โดยปี 2564 ไทยนำเข้าจากไต้หวันสัดส่วน 30.5% ของการนำเข้ารวม คิดเป็นมูลค่า 4,616 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะกระทบฐานการผลิตสำคัญในไทย คือ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์

3.ผลกระทบด้านแรงงาน เนื่องจากไต้หวันเป็นปลายทางที่คนไทยเลือกเดินทางไปทำงานสูงสุด โดยมีแรงงานไทย 48,542 คน รองลงมาเป็นอิสราเอล 20,555 คน เกาหลีใต้ 12,950 คน ญี่ปุ่น 7,665 คน และสวีเดน 6,680 คน ซึ่งความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันอาจส่งผลต่อความเป็นอยู่ของแรงงานไทยในไต้หวัน

4.ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว โดยข้อมูลนักท่องเที่ยวจากไต้หวันมาไทยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 8,060 คน คิดเป็น 0.4% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศทั้งหมดและมีแนวโน้มสูงขึ้นหากไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน แต่ถ้าความขัดแย้งส่งผลให้เศรษฐกิจไต้หวันชะลอตัว และการเดินทางจากไต้หวันไม่สะดวกอาจทำให้นักท่องเที่ยวไต้หวันมาไทยช่วงที่เหลือปีนี้ลดลง

 

ห่วงขึ้นดอกเบี้ยฉุดเศรษฐกิจ

นายดนุชา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ภายหลังจากเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งอาจกระทบผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจรายย่อย รวมทั้งกระทบกับภาพรวมของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหามาตรการช่วยเหลือ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องช่วยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบได้

สำหรับการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ที่สำคัญ ได้แก่

  • เศรษฐกิจโลกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.3%
  • ปริมาณการค้าโลกโดยรวมคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.3% ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 4.7% 
  • เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวได้ 2.2%
  • เศรษฐกิจยูโรโซนคาดการณ์ขยายตัวได้ 2.6%
  • เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ 3.3% 
  • อัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะอยู่ที่ 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในรูปเงินดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.9%
  • การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.4%
  • การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัว 3.1%
  • อัตราเงินเฟ้อของไทยคาดว่าอยู่ที่ 6.3-6.8% โดยจะทยอยปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังแต่ถือว่าสูงกว่าระดับปกติ

นอกจากนี้ สศช.ปรับคาดการณ์จำนวนและรายได้จากภาคการท่องเที่ยวปี 2565 จากเดิมคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 7 ล้านคน มีรายได้เข้าประเทศ 5.7 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มคาดการณ์เป็นจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยเพิ่มเป็น 9.5 ล้านคน และมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 6.6 แสนล้านบาท

 

มั่นใจไม่เกิดขาดดุลแฝด

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยถือว่าแข็งแรงมาก โดยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.2 แสนดอลลาร์ อัตราการว่างงาน 1.7% ขณะที่ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.6% ทำให้ความกังวลกรณีข้อกังวลที่เกี่ยวกับการขาดดุลแฝด (Twin Deficits) หรือการขาดดุลการคลัง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดควบคู่กันนั้นถือว่าไม่น่ากังวลว่าจะเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เพราะช่วงนั้นขาดดุลแฝดเหมือนกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ได้น่ากลัวเหมือนหลายคนกังวล และเชื่อว่าการขาดดุลแฝดครั้งนี้ไม่รุนแรงเหมือนช่วงต้มยำกุ้ง

ทั้งนี้หากพิจารณารายละเอียดของตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหมดจะเห็นว่าการส่งออกปี 2565 ไปได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ประกอบกับเครื่องชี้อื่นยังขยายตัวได้ดี และมีเพียงบางตัวที่หดตัว แต่ไม่กังวลเพราะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นขึ้นมาต่อเนื่อง 

“ปัญหาการขาดดุลแฝดจะรุนแรงหรือไม่ จะเหมือนช่วงต้มยำกุ้งอีกหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าไม่รุนแรงแบบนั้น เพราะช่วงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ไทยเคยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 8% ติดต่อกัน 2-3 ปี จึงทำให้เกิดวิกฤติขึ้น แต่ตอนนี้ไม่เหมือนกัน และเมื่อดูตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยมาก แถมทุนสำรองระหว่างประเทศปัจจุบันสูง ไม่เหมือนก่อนต้มยำกุ้งที่มีทุนสำรองไม่มากเหมือนตอนนี้ซึ่งมีฐานะการเงินการคลังประเทศยังดีอยู่ เพียงแต่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องจับตาเท่านั้น”

 

8โจทย์บริหารเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคช่วงที่เหลือของปี 2565 รวม 8 ประเด็น ได้แก่ 

1.การติดตามและดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตควบคู่ไปการดูแลผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นราคาสินค้าและภาระดอกเบี้ยแบบมุ่งเป้า 

2.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับ การบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรกรจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและปัญหาต้นทุนการผลิต การเตรียมการและป้องกันปัญหาจากอุทกภัย และการเพิ่มส่วนแบ่งเกษตรกรในรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้าย 

3.การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งเตรียมมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวภาคธุรกิจ

4.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้สินค้าที่มีศักยภาพ การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหารและสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามข้อกำหนดประเทศผู้นำเข้า 

รวมถึงใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่การเร่งรัดเจรจาความตกลงการค้า และเตรียมศึกษาเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ และการส่งเสริมภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงรองรับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน

5.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่นให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวกลับมาประกอบธุรกิจ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ 

6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนปี 2562-2564 ให้ลงทุนจริง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ดำเนินการไปแล้ว 

รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละภูมิภาค การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญและการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูง 

7.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 

8.การติดตามเฝ้าระวังและเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นปัจจัยที่จับตาใกล้ชิด