พาณิชย์ไฟเขียว ‘บะหมี่ซอง’ ขยับราคา 7 บาท

พาณิชย์ไฟเขียว ‘บะหมี่ซอง’ ขยับราคา 7 บาท

กรมการค้าภายในไฟเขียว “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ปรับขึ้นราคาไม่เกิน 1 บาท 3 ยี่ห้อ “มาม่า-ไวไว-ยำยำ” มีผล 25 ส.ค.นี้ พร้อมกำหนดเงื่อนไขเข้ม ต้นทุนวัตถุดิบลดลง ต้องปรับราคาลง ส่วนอีก 2 รายอยู่ในระหว่างการพิจารณา ด้านมาม่ารับได้ ดีกว่าไม่ให้ขึ้นราคา

            
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประชุมร่วมกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ตรามาม่า บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ตราไวไว และบริษัท วันไทย อุตสาหกรรม อาหาร จำกัด ตรายำยำ เพื่อพิจารณากรณีที่ผู้ผลิตยื่นขอปรับขึ้นราคาแบบซองจาก 6 บาทเป็น 8 บาท ซึ่งกรมได้มีการขอให้ตรึงราคามาตั้งแต่ปี 64 โดยหลังจากพิจารณาต้นทุนร่วมกันอย่างละเอียดแล้ว ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ เช่น ข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม แพกเกจจิ้ง รวมถึงต้นทุนพลังงาน และแรงงาน เห็นว่าต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นจริง จึงได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาทั้ง 3 ราย ไม่เกิน 1 บาทต่อซองสำหรับขนาดปกติ มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.2565 เป็นต้นไป

การอนุมัติให้ปรับราคาได้ไม่เกิน 1 ต่อ ในขนาดซอง6บาท เป็นซองละ7บาทคือยี่ห้อ มาม่า ไวไวและยำยำ โดยอยู่ภายใต้หลัก วิน-วินโมเดลที่ผู้ผลิตอยู่ได้ ประชาชนผู้บริโภคไม่ได้รับผลกระทบมากเกินไป ซึ่งการปรับราคานี้ก็ยังมีเงื่อนไข ให้ผู้ผลิตปฏิบัติ คือ ถ้าต้นทุนวัตถุดิบลดลง ต้นทุนพลังงานลดลง ก็ต้องปรับลดราคาลงมา รวมทั้งต้องแจ้งข้อมูลราคาวัตถุดิบให้กรมรับทราบต่อเนื่อง เพื่อติดตามราคาต้นทุนอย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งกรมฯ จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด และจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ผลิตปรับลดราคาต่อไป
          
ทั้งนี้หากกรมฯ ได้แจ้งผู้ผลิตไปแล้ว แต่ผู้ผลิตไม่ปรับลดราคาลง จะเป็นการเข้าข่ายขายสินค้าแพงเกินสมควร มีโทษตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตามมาตรา 26 และ 29 สำหรับผู้ผลิตอีก 2 รายที่เหลือ คือ บริษัท นิชชิน ฟูดส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ตรานิชชิน และบริษัท โชคชัยพิบูล จำกัด ตราซื่อสัตย์ จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์เดียวกันนี้ โดยล่าสุดนิชชิน ได้ยื่นรายละเอียดต้นทุนเข้ามามาครบถ้วนแล้ว กรมฯ จะพิจารณาต่อไป ส่วนซื่อสัตย์ ยังไม่ได้ยื่นรายละเอียดเข้ามา

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า กล่าวว่า ระยะเวลา 18 เดือนที่ผู้ผลิตขอปรับราคาขึ้น 2 บาทต่อซอง แต่ได้รับการอนุมัติปรับ 1 บาทนั้นถ้ามองว่าเป็นเรื่องที่ดี รับได้ระดับหนึ่ง ถ้ามองว่าไม่ดีก็ไม่ดีในแง่ของผลประกอบการ กำไรขาดทุนของผู้ผลิต แต่ถ้าถามว่าพอใจหรือไม่ เป็นเรื่องของความรู้สึก เพราะเข้าใจว่าภาครัฐก็มีหน้าที่ดูแลประชาชนทั้งปะเทศ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ ก็ยอมรับ เพราะก็ยังดีกว่าไม่ได้ปรับราคา ส่วนจะมีการขอปรับขึ้นอีกหรือไม่นั้น ตอบยากเพราะอยู่ที่ต้นทุนการผลิตว่าจะพุ่งสูงขึ้น