เปิดแผนดึงซาอุฯลงทุนไทย ลุยพลังงาน-อาหาร-สุขภาพ
นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียปรับความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ภาวะปกติ ภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศมีการเดินทางเยือนระหว่างกันมากขึ้น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้น โดยได้มีการกำหนดโครงการเชิงกลยุทธ์เพื่อความร่วมมือกับซาอุฯ
รวมทั้งการดำเนินงานฟื้นฟูความสัมพันธ์ของสองประเทศที่มีความสำคัญหลายด้าน เช่น การเปิดเส้นทางบินใหม่เที่ยวบินตรง กรุงเทพฯ-เจดดาห์ และกรุงริยาด-กรุงเทพฯ โดยตั้งแต่เมื่อเดือน มี.ค.ทางการซาอุฯ ยกเลิกข้อห้ามพลเมืองประเทศตนเองเดินทางมาไทยและอนุญาตให้คนไทยไปซาอุฯ ได้
รัฐบาลได้กำหนดนโยบาย Better and Green Thailand 2030 โดยมีเป้าหมายสร้างการลงทุน 2 ล้านล้านบาท และลดปล่อยก๊าซ CO2 รวม 625,000 ราย
ทั้งนี้ ได้กำหนดความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบีย โดยมีเป้าหมายมูลค่าการลงทุน 300,000-600,000 ล้านบาท ซึ่งในเดือน มี.ค.2565 ได้กำหนด 7 โครงการเชิงกลยุทธ์ ต่อมาเดือน พ.ค.2565 ได้เดินทางเข้าพบเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับซาอุฯ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ
ส่วนแผนงานในปัจจุบันจะเป็นการหารือความร่วมมือทางธุรกิจ ครอบคลุมธุรกิจพลังงาน ปิโตรเคมี เชื้อเพลิงชีวภาพ การเกษตร เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพและบริการ ส่วนแผนดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2565 จะหารือความร่วมมือธุรกิจครอบคลุมสถานีอัดประจุไฟฟ้า EV เกม และ Metaverse
เพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยและซาอุดิอาระเบียได้หารือกันในความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนในอนาคต นำคณะโดย "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และผู้แทนการค้าไทย เพื่อหารือการสร้างความร่วมมมือทางเศรษฐกิจในด้านอุตสาหกรรม
เช่น พลังงานปิโตรเคมี เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานสะอาด การเกษตรยั่งยืน เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการบริการอื่น
“นักลงทุนจากซาอุฯ ให้ความสนใจอีอีซี ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5G อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และธุรกิจเวลเนส ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ซาอุฯ มีการลงทุนอยู่แล้วและสามารถต่อยอดเข้ามาสู่พื้นที่อีอีซีได้เพื่อเป็นเหมือนเมืองพักตากอากาศ”
รวมทั้งได้มีการหารือถึงแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ซาอุดิอาระเบีย (Joint Trade Committee : JTC) เพื่อเป็นเวทีเจรจาการค้าระหว่างกันอย่างเป็นทางการ และนำไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันในอนาคต เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขับเคลื่อนความร่วมมือในทุกสาขาให้มีความต่อเนื่องและสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ขณะเดียวกันภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ที่ต้องการมุ่งลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมันโดยการปรับเข็มทิศธุรกิจและกระจายการลงทุนในด้านใหม่ๆ ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยต้อนรับนักลงทุนจากซาอุฯ เข้าลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ รวมไปถึงอีอีซี และการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในประเทศซาอุฯ
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือกับซาอุฯ ได้มีการหารือกันในหลายประเด็นโดยซาอุฯ นั้นต้องการให้ไทยเป็นพันธมิตรในในการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานสะอาด และความมั่นคงทางอาหาร คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าการลงทุนร่วมกันได้ราว 3-6 แสนล้านบาท ดังนี้
ด้านพลังงาน ซาอุฯ ต้องการให้ไทยเป็นฐานสำหรับกักเก็บน้ำมันดิบในภูมิภาค รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในเรื่องของเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่จะใช้เป็นพลังงานที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นทางเลือกของรถโดยสารในอนาคตซึ่งพลังงานไฮโดรเจนจะช่วยในเรื่องของการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าด้วย
“รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ วางแผนไว้ว่าภายในปี 2040 ประเทศไทยจะลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเหลือ 50% และอีก 50% เป็นการใช้พลังงานสะอาดในประเทศ จากที่ปัจจุบันไทยใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าอยู่ 70% และใช้พลังงานสะอาด 20% และถ่านหินประมาณ 10%"
ทั้งนี้ที่วางแผนไว้นั้นค่าไฟก็จะไม่แพงกว่าอัตราราคาไฟฟ้าในปัจจุบัน เพราะมีเรื่องของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนที่มีขนาดใหญ่โตมาก และการมีพลังงานสะอาดเหล่านี้ทำให้การเข้ามาลงทุนของดาต้าเซนเตอร์ รถ EV ต่างๆ นั้นไปได้โดยการมีพลังงานสะอาดปริมาณมากในประเทศ จึงเป็นที่มาที่ใช้คำว่า Better and green Thailand ซึ่งการเติบโตในภายภาคหน้าต้องทำควบคู่กันทั้งการเติบโตและความยั่งยืน
ด้านความมั่นคงทางอาหารได้มีการหารือกับซาอุฯ เรื่องของสมาร์ทฟาร์มมิ่งที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการเกษตรเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานในการผลิตอาหารให้ซาอุฯ โดยวิธีการเทคโนโลยีการปลูกพืชแบบใช้น้ำน้อย
ด้านความร่วมมือสุขภาพ (Wellness) โดยซาอุฯ ต้องการที่จะพัฒนาเมืองด้านทะเลตะวันตกของซาอุฯ ให้เป็นรีสอร์ทเพื่อท่องเที่ยวและพักฟื้นร่างกาย ซึ่งไทยจะนำเอาภูเก็ตไปเป็นเมืองที่จับคู่ความร่วมมือด้านนี้กับซาอุฯ เพื่อที่จะเป็นเมืองพี่เมืองน้องที่มีความร่วมมือด้านนี้ร่วมกัน
“บรรยากาศของโลกขณะนี้ที่มีความขัดแย้งหลายด้าน ทำให้มีนักลงทุนที่สนใจมองเมืองไทยมากขึ้น เพราะไทยมีความพร้อมหลายด้านทั้งพลังงงานสะอาด มีตลาด และมีโอกาส เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสของประเทศ ไม่แพ้ชาติอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน ถ้าไทยมีความมั่นคง ไม่มีความขัดแย้งภายใน เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้”