เอกชน”ชี้ปัจจัยท้าทายปี66 พลังงานแพง-กำลังซื้อหดตัว
ส.อ.ท.ชี้ ไทยต้องพลิกเกม ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ ชู 3 แนวทางพลิกเกม หอการค้า ชี้ปัจจัยท้าทายปี 66 “พลังงานงาน-กำลังซื้อหด” ขอรัฐบาลชุดใหม่มีเสถียรภาพ “ดาว เคมิคอล” ชูธุรกิจปรับตัวสู่โลกใหม่ แนะธุรกิจวางแผนระยะยาวรับทุกสถานการณ์
กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา “Thailand Economic Outlook 2023” เพื่อนำเสนอทิศทางเศรษฐกิจปี 2565 โดยมีภาคธุรกิจร่วมฉายภาพปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะต่อไป
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ 2023 รอดหรือร่วง” ว่า เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส.อ.ท.ต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะดิจิทัลทรานฟอร์ม ซึ่งหลายอุตสาหกรรมถูกดิสรัปชั่น
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญปัญหา Perfect Storm หรือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้ต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทย รวมทั้งเมื่อมีปัญหาเงินเฟ้อและราคาพลังงานสูงจากสงครามรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับขึ้นเฉลี่ย 5% เงินบาทอ่อนค่า ที่แม้ดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการนำเข้า
นอกจากนี้ ขณะนี้สิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมมอง คือ การเปลี่ยนเกมที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อน First Industries แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.อุตสาหกรรมเดิม ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ เป็นอุตสาหกรรมดั่งเดิมที่กำลังถูกดิสรัปชั่น ขณะนี้กำลังปรับตัวให้เข้มแข็ง แม้ไม่ได้หมายความว่าจะรอดก็ตาม
2.Next-GEN Industries อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยการเปลี่ยนเกมประเทศไทยผ่านภาคอุตสาหกรรมที่เน้น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมใหม่ (นิวเอสเคิร์ป) รวมถึงบีซีจี อาศัยความหลากหลายทางชีวิตภาพที่นำวัตถุดิบมาต่อยอด และความยั่งยืน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แนะดันนโยบายเศรษฐกิจต่อเนื่อง
“ภาคเอกชนและภาครัฐต้องจับมือกัน และต้องพลิกเกม โดยเกมนี้ถ้าพลิกได้จะเป็นของประเทศไทย จะรอดหรือรุ่ง แต่ไทยต้องรอดเพราะที่ผ่านมาเรารอดตลอด ส่วนจะรุ่งหรือไม่รุ่งอยู่ที่พวกเรา โดยปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมและทำอย่างจริงจัง ซึ่งเราจะกลายเป็นผู้นำด้าน Green Economy" นายเกรียงไกร กล่าว
สำหรับสิ่งที่ต้องการเห็นจากรัฐบาลใหม่ คือความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำต่อ และไม่ควรเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่ โดยภาครัฐและเอกชนต้องจับมือกันทำงาน รวมทั้งควรปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ซึ่งไทยมีกฎหมาย 1,400 ฉบับ และมีอนุบัญญัติกว่าแสนฉบับที่มัดมือมัดเท้านักธุรกิจ และต้องทำอย่างไรให้ปลดล็อคหรืออำนวยความสะดวกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่และถ้าปลดล็อคได้เร็วจะทำให้ประเทศไปรุ่ง
“หอการค้า”ชี้ปัจจัยท้าทายปี66
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2566 เป็นปีที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทย เพราะมีปัญหาทั้งซัพพลายเชน พลังงานแพง สินค้าแพง อำนาจซื้อลดลง ขณะที่ยุโรปมีปัญหาด้านพลังงาน สหรัฐแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีแนวโน้มขึ้นอีก ส่วนจีนที่เป็นตัวแปรสำคัญได้ใช้นโยบายซีโร่โควิด-19
“ได้หารือกับทูตจีนพบว่า คนจีนฉีดวัคซีนแล้ว 92% เหลือ 8% ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ทำให้นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ประกาศใช้นโยบายซีโร่โควิดต่อ โดยวันที่ 16 ต.ค.นี้ ที่จะประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ และหากปี 2566 หากเศรษฐกิจจีนจะโตต้องมีมาตรการ อาทิ แก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ การแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งไทยจะได้รับอานิสงส์การเติบโตร่วมด้วย”
สำหรับการส่งออกไทยปีนี้จะขายตัว 6-8 % โดยช่วง 7 เดือน แรกของปีนี้ การส่งออกขยายตัว 11% ส่วนปี 2566 คาดว่าการส่งออกไทยจะขยายตัวเพียง 2-3% แต่ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นและเป็นดาวเด่นในปีหน้า โดยปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 9 ล้านคน แต่ปีหน้าจะมี 20 ล้านคน ซึ่งไม่รวมจีนที่คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 7 ล้านคน และจะทำรายได้ 1.73 ล้านล้านบาท
หนุนการเมืองมีเสถียรภาพ
“ปีนี้ไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคในปลายปี หอฯการค้าขอเชิญชวนให้เป็นเจ้าภาพที่ดี ซึ่งการเป็นเจ้าภาพเอปคเป็นโชว์เคสที่ดีมาก เพราะเป็นจะเป็นตัวทำให้อีอีซี ซึ่งเฟสแรกจบไปแล้วเรากำลังเริ่มเฟส 2 ซึ่งเวทีเอเปคจะทำให้อีอีซีเฟส 2 เกิดขึ้นได้
สำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในปีหน้านั้นหอการค้าไทยมองว่า เสถียรภาพทางการเมืองเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐต้องร่วมมือกัน โดยเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อเจอปัญหา รัฐบาลก็ช่วยปลดล็อคเปิดประตู
“เหมือนกรณีไทยมีปัญหาการส่งออกผลไม้ไปจีนจากมาตรการซีโรโควิด ภาครัฐและเอกชนก็จับมือแก้ปัญหาได้สำเร็จส่งผลให้ส่งออกผลไม้ได้ หรือในกรณีประเทศซาอุฯที่ไทยฟื้นความสัมพันธ์ก็เปิดโอกาสให้เอกชนไทยเปิดการค้าการลงทุนกับซาอุได้ นอกจากนี้หอการค้าเห็นว่า รัฐบาลควรแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง การอำนวยความสะดวกการค้าในเรื่องของเอกสารให้เป็นออนไลน์”
“ดาว”ชูธุรกิจปรับตัวสู่โลกใหม่
นายจอน เพนไรซ์ ประธานบริษัทดาว ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวในหัวข้อ "New World Order : New Strategy กลยุทธ์รับกติกาโลกใหม่” ว่า ความผันผวนและความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครคาดการณ์ถึงผลกระทบอย่างรุนแรงที่ตามมา ตั้งแต่การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในปี 2020 ที่ล็อกดาวน์ทั่วโลก จากนั้นปี 2021 อากาศหนาวเย็นรุนแรงทำให้ต้องสั่งปิดโรงงานผลิตเคมีคอลในสหรัฐ และปีนี้สงครามที่ปะทุขึ้นในยูเครนทำให้เกิดวิกฤติพลังงาน
“สิ่งที่สำคัญกว่าการคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคต คือการรู้ว่าเราจะทำอะไรและอุตสาหกรรมควรทำอย่างไรจึงจะสามารถเตรียมพร้อมรับกับทุกสถานการณ์”
ทั้งนี้ บริษัท ดาว เคมิคอล ได้ดำเนินตามกลยุทธ์ที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง 4 ด้าน ได้แก่ 1.ยึดความต้องการผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง โดยการใช้ประสบการณ์ของลูกค้าเป็นตัวชี้วัดผลงาน 2.มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว ภายใต้เป้าหมายการเป็นซัพพลายเออร์ที่น่าเชื่อถือและปลอดภัย โดยจัดการห่วงโซ่การผลิตที่เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง
3.การมีวินัยทางการเงิน โดยให้ความสำคัญกับสภาพคล่องธุรกิจและสมดุลปริมาณหนี้ 4.สร้างความหลากหลายให้พอร์ตการลงทุน ทั้งในด้านตลาดผู้ใช้งานและภูมิศาสตร์
สำหรับปี 2023 วิกฤติความผันผวนที่บริษัทต้องเตรียมรับมือ ประกอบด้วย ราคาพลังงานทั้งน้ำมันและแก๊สในยุโรปที่อยู่ระดับสูงและส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทั้งยังชะลอการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน นอกจากนี้ยังมีสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ และการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์
เร่งดันแผนธุรกิจยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน บริษัทมองโอกาสในปี 2023 ที่จะมีส่วนในการกำหนดทิศทางการวางแผนกลยุทธ์ แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หลังจากการระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้น ได้เปลี่ยนแนวคิดภาคอุตสาหกรรมไปสิ้นเชิง ซึ่งทำให้การพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานเพียงแห่งเดียวกลายเป็นความเสี่ยง และเกิดเทรนด์การย้ายฐานผลิตจากจีนเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นโอกาสของอาเซียนและอินเดีย รวมทั้งการย้ายโรงงานบางส่วนกลับไปสหรัฐและยุโรป แม้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่ลดความเสี่ยง
2.การดำเนินกลยุทธ์ ESG เป็นแผนการลดความเสี่ยงระยะยาว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระทบรุนแรงขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องลดปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนำไปสู่การลงทุนและพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งระหว่างรัฐและเอกชน
ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ด้วยการพัฒนาและวิจัยวัสดุอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง พลาสติกหมุนเวียนในแพคเกจจิ้ง
3.การครองใจพนักงานและดึงดูดคนเก่งๆ โดยการทำความเข้าใจเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนไป อาทิ การทำงานจากที่ไหนก็ได้