ศาลล้มละลายกลางไฟเขียว 'การบินไทย' แก้ไขแผนฟื้นฟู

ศาลล้มละลายกลางไฟเขียว 'การบินไทย' แก้ไขแผนฟื้นฟู

ศาลล้มละลายกลางไฟเขียว “การบินไทย” ลุยแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ ปรับวงเงินทุนใหม่เหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท เดินหน้าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเริ่มแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุน

รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (20 ต.ค.) ศาลล้มละลายกลางมีกำหนดวันนัดฟังคำสั่งศาลเกี่ยวกับข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นชอบให้การบินไทยแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามที่เสนอ อีกทั้งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ 78.59% รวมกระทรวงการคลัง ยังได้โหวตยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว เพราะเล็งเห็นว่าแผนดังกล่าวจะทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วขึ้น ส่วนทุนเป็นบวกในปี 2567 และสามารถกลับเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ได้ภายในปี 2568

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ การบินไทยก็จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เข้ามาเตรียมเรื่องของกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน และการเพิ่มทุน จากเจ้าหนี้เดิมและผู้ถือหุ้นเดิม ในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2567 ซึ่งลดลงจากแผนฟื้นฟูเดิมที่วางไว้ 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาพรวมธุรกิจของการบินไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงฟื้นตัว มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 80% ส่งผลให้การบินไทยมีกระแสเงินสด (แคชโฟว์) สะสมอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่เห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยในครั้งนี้ มีเนื้อหาคำสั่งศาลสรุปได้ ประกอบด้วย 1. การแก้ไขแผนในส่วนการชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่เจ้าหนี้กระทรวงการคลัง สถาบันการเงินและเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้นั้น มีการกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่ละรายในกลุ่มเดียวกันให้ได้รับชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกัน โดยได้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการไว้ภายใน 31 ธ.ค.2567 ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ช่วยทำให้ลูกหนี้มีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นและทำให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้เร็วขึ้น ดังนั้นการแปลงหนี้เป็นทุนจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ

2.การแก้ไขแผนที่เพิ่มเติมข้อกำหนดในการชำระหนี้ให้แก่กลุ่มผู้โดยสารให้ได้รับชำระหนี้ตามมูลค่าบัตรโดยสารที่บันทึกไว้ โดยเริ่มชำระได้ตั้งแต่วันที่ศาลเห็นชอบด้วยแผนที่แก้ไขโดยต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567 ซึ่งการแก้ไขวิธีการชำระหนี้ดังกล่าว ไม่ใช่การลดยอดหนี้ แต่เป็นการชำระหนี้ตามมูลค่าบัตรที่ลูกหนี้ได้รับ และเป็นไปตามสิทธิหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายในการทำธุรกิจการค้าปกติและตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสาร ทั้งอาจทำให้ผู้โดยสารรับเงินเร็วขึ้นโดยไม่ต้องรอคำขอรับชำระหนี้ให้มีคำสั่งถึงที่สุด

3.การแก้ไขแผนเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีข้อพิพาทในต่างประเทศและผู้บริหารแผนจำเป็นต้องเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทกับเจ้าหนี้ดังกล่าวนั้น หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าว อาจทำให้ลูกหนี้ต้องถูกบังคับยึดทรัพย์ในต่างประเทศ รวมถึงเครื่องบินในช่วงเวลาลงจอด ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ประเด็นนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้ผู้คัดค้านแผนฟื้นฟู การแก้ไขแผนในส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

4. การแก้ไขแผนเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการดำเนินธุรกิจของการบินไทย นั้น เจ้าหนี้ผู้ให้บริการสนามบิน ผู้ให้บริการภาคพื้นและผู้ให้บริการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจที่ระบุรายชื่อและรายละเอียดเงินที่ค้างชำระไว้ ถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจการค้าตามปกติของลูกหนี้ หากไม่แก้ไขแผน ย่อมทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถดำเนินการค้าตามปกติต่อไปได้

5. ข้อเสนอขอแก้ไขแผนส่วนแผนปฏิรูปธุรกิจ คณะกรรมการกำกับสินเชื่อใหม่และข้อกำหนดรองรับความเสี่ยงให้เจ้าหนี้ที่ถูกบังคับแปลงหนี้เป็นทุน รวมถึงกำหนดเงื่อนไขอันเป็นผลสำเร็จของแผน ไม่ใช่รายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การยกเลิกส่วนคณะกรรมการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ ก็เนื่องจากเป็นการลดขั้นตอนการดำเนินงานเพราะมีคณะกรรมการเจ้าหนี้กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้บริหารแผนอยู่แล้ว จึงไม่ทำให้ข้อเสนอขอแก้ไขแผนไม่ชอบ