เปิดผลเจรจารถไฟฟ้าสายสีส้ม "อัยการ" ชี้ BEM ไม่ลดค่าก่อสร้าง
คณะกรรมการ ม.36สายสีส้ม ปัดเทียบส่วนต่างขอรับเงินสนับสนุนรัฐ ประมูลครั้ง1 และ 2 ชี้ต่างเวลาและข้อมูลกัน ส่วนปมกรรมการ“ไอทีดี”จำคุกคู่สัญญาพีพีพี ส่วนผลเจรจา “บีอีเอ็ม” เคาะค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท แต่ไม่ลดค่าก่อสร้างงานโยธา
หลังจากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งใหม่
โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BEMเสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน: NPV) เท่ากับ – 78,287.95 ล้านบาท2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD Group เท่ากับ – 102,635.66 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้ยังมีข้อกังขาในหลายประเด็น
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เปิดเผยว่า ได้นัดประชุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2565 เพื่อติดตามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
กรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ยกเลิกประกวดราคาโครงการดังกล่าว และมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน
โดยการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจากบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะควบคุมดูแลรัฐวิสาหกิจ,สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะควบคุมดูแลโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ สำนักงานอัยการสูงสุด และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมชี้แจงข้อมูลแต่ รฟม.ได้ทำหนังสือขอไม่เข้าร่วมการประชุม โดยให้เหตุผลว่าโครงการดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการศาลพิจารณา
สำหรับประเด็นการหารือสืบเนื่องมาจากกรณีที่ รฟม.ได้ยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และปรับหลักเกณฑ์คัดเลือกก่อนประกาศประกวดราคาครั้งที่ 2 ส่งผลให้ทางเอกชนที่เคยเข้าร่วมประมูลในครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มบีทีเอส ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลในครั้งที่ 2 ได้ และบีทีเอสยังได้เปิดเผยข้อเสนอในการประมูลครั้งที่ 1 ซึ่งพบว่ามีส่วนต่างให้รัฐสนับสนุนถึง 6.8 หมื่นล้านบาท
อัยการแจ้งประมูลรอบสองทำรัฐจ่ายเพิ่ม
ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พีพีพี)โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือก) ได้ชี้แจงถึงกรณีส่วนต่างข้อเสนอขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐ ว่า ข้อมูลที่บีทีเอสได้เปิดเผยต่อสาธารณะถึงข้อเสนอในการยื่นประกวดราคาครั้งที่ 1 นั้น ถือเป็นข้อเสนอที่ยังไม่ได้มีการสอบทาน
นอกจากนี้ ยังเป็นข้อมูลที่ไม่ได้มีการเปรียบเทียบวิเคราะห์ราคาต้นทุนจริงจาก รฟม. เป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นภายใต้ต้นทุนคนละช่วงเวลา เนื่องจากข้อเสนอของบีทีเอสเป็นข้อเสนอในการประมูลครั้งที่ 1 ช่วงปี 2563 ถือเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของเอกชนในการประมูลครั้งที่ 2 ได้ อีกทั้ง รฟม.ได้ประกาศผู้ชนะการประมูลไปแล้ว หากจะยกเลิกการประกวดราคาก็จะนำมาสู่การฟ้องร้อง เพราะยกเลิกประกวดราคาต้องมีเหตุผลเพียงพอ
“ข้อมูลนั้นก็ยังไม่ได้รับการตรวจสอบทานราคาที่เกิดขึ้นจริง ณ ปัจจุบัน และไม่ใช่ข้อเสนอของเอกชนที่แข่งขันกันในการประมูลครั้งที่ 2 ”
ขณะเดียวกัน รฟม.ได้ประกาศผลการคัดเลือกและได้เริ่มขั้นตอนเจรจากกับบีอีเอ็มไปแล้ว และได้ต่อรองจนเกิดประโยชน์ต่อภาครัฐและประชาชน มากกว่าข้อกำหนดในเอกสารประกวดราคา (RFP) กำหนด
โดยประเด็นสำคัญของผลการเจรจาต่อรอง อาทิ เรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่จะปรับลดเพดานราคาลง จากเดิมที่ RFP กำหนดเพดานราคาอยู่ที่ 65 บาท รฟม.ได้นำนโยบายของกระทรวงคมนาคมมาเป็นข้อต่อรอง เพื่อให้อ้างอิงใช้เกณฑ์ราคาเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เปิดให้บริการอยู่
โดยจะมีเกณฑ์ราคาอยู่ที่ 14 – 42 บาท อีกทั้งให้ใช้มาตรฐานรถไฟฟ้ารองรับระบบตั๋วร่วม ซึ่งทางบีอีเอ็มตกลงในการปรับลดเพดานราคาค่าโดยสาร ซึ่งจะมีกำหนดใช้เป็นระยะเวลา 10 ปี หลังจากนั้นในปีที่ 11 – 30 จะใช้เกณฑ์ราคาตามข้อกำหนดใน RFP
BEM ไม่ลดค่าก่อสร้างอ้างต้นทุนพุ่ง
ขณะที่การเจรจาต่อรองค่าก่อสร้าง บีอีเอ็มยืนยันว่าข้อเสนอที่ยื่นมานั้นคำนวณมาจากต้นทุนที่แท้จริงและเป็นไปตาม RFP กำหนด ซึ่งเงินสนับสนุนรัฐที่ 90,000 ล้านบาทนี้ หากเทียบกับต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากวัสดุเหล็ก และน้ำมัน ยังถือเป็นเงินสนับสนุนที่ไม่สูง เพราะวงเงินดังกล่าวภาครัฐคำนวณภายใต้ต้นทุนในปี 2563 ดังนั้นบีอีเอ็มจึงไม่ได้มีการตกลงปรับลดค่าก่อสร้าง หรือขอรับเงินสนับสนุนลดลง
นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาให้บีอีเอ็มรับภาระค่าบำรุงรักษางานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี ที่ปัจจุบันภาครัฐได้ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ โดยหากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีความล่าช้าออกไปอีกนั้น จะส่งผลให้มีค่าบำรุงรักษาเฉลี่ยเดือนละ 40 ล้านบาท ซึ่งผลการเจรจาทางบีอีเอ็มรับข้อเสนอที่จะรับผิดชอบค่าบำรุงรักษางานโยธาดังกล่าวทั้งหมด
ส่วนกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอในการประมูลครั้งนี้ กรรมการท่านหนึ่งของ ITD Group เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 นั้น คณะกรรมการคัดเลือกได้มีมติร่วมกันว่า ข้อกำหนดนี้ระบุถึงกรณีที่เอกชนที่จะเป็นคู่สัญญากับรัฐต้องไม่มีลักษณะดังกล่าว แต่ในกรณีของ ITD ไม่ได้เป็นเอกชนผู้ชนะการประมูล
นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ยังได้มีการตีความทางกฎหมาย และมีมติร่วมกันว่าหากในกรณีที่ ITD ชนะการประมูล ITD มีข้อเสนอที่จะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมกับพันธมิตรที่ยื่นข้อเสนอ ซึ่ง ITD คงจะไม่นำรายชื่อกรรมการบริษัทผู้ที่มีโทษจำคุกมาเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ
ดังนั้นจึงมีมติในที่ประชุมว่าไม่ได้ขัดต่อประกาศฉบับนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นการตีความกันเองในคณะกรรมการคัดเลือกฯ แต่เป็นการตีความโดยอ้างอิงจากกฎหมายการตัดสิทธิเอกชนทิ้งงาน กรณีนั้นยังเป็นการตัดสิทธิเฉพาะบุคคลที่เป็นคู่สัญญา
“ประเด็นที่ทาง รฟม.ไม่ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (สคร.) และได้มีการประกาศผลการประมูล เพราะเห็นว่า ITD ไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูล ดังนั้นก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องทำหนังสือเพื่อให้ สคร.ตีความข้อกำหนดดังกล่าว”
ร่างสัญญาร่วมทุนพร้อมส่งตรวจใน 1 เดือน
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้ ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการร่างสัญญาร่วมลงทุนแล้ว โดย รฟม.ได้ส่งร่างสัญญาดังกล่าวมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการตรวจสอบ คาดว่าจะตรวจสอบแล้วเสร็จภายใน 1 เดือนหลังจากนี้ เพื่อส่งร่างสัญญากลับไปยัง รฟม.ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอน เสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
ขณะที่ด้านตัวแทนจากบีทีเอส ตั้งข้อสงสัยว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ทำหน้าที่ในการเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์สูงสุดแก่รัฐแล้วหรือไม่ เพราะไม่ได้นำข้อมูลใดไปเปรียบเทียบ อีกทั้งการต่อรองค่าโดยสารนั้น หากระบุว่า RFP กำหนดที่ 65 บาท ถือเป็นเกณฑ์ราคาที่ปรับขึ้นก้าวกระโดดจากเพดานในปัจจุบันที่อ้างอิงตามดัชนีผู้บริโภคสูงสุดอยู่ที่ 42 บาท จึงไม่ทราบว่า RFP กำหนดเกณฑ์ราคาดังกล่าวจริงหรือไม่
ส่วนกรณีคุณสมบัติของคณะกรรมการบริษัท ITD ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2562 ที่ระบุลักษณะเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มีการระบุอย่างชัดเจนว่า
1.บุคคลเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกฯ
2.กรรมการหรือผู้มีอำนาจนิติบุคคลจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเรื่องการรับโทษจำคุก
“ได้ตรวจสอบคุณสมบัติหรือไม่ เพราะหากมีการตรวจสอบ ITD ไม่เข้าข่ายให้ได้รับคัดเลือก ก็จะเหลือเอกชนเพียงกลุ่มเดียวในการยื่นข้อเสนอ ซึ่งจะเข้าข่ายในการประมูลโครงการด้วยว่ามีเอกชนเข้าร่วมเพียงรายเดียว รัฐจะสามารถคัดเลือกข้อเสนอที่เป็นประโยชน์สูงสุดหรือไม่”
องค์กรต้านโกงชี้ร่วมสังเกตอย่างมีข้อจำกัด
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นที่สนใจของประชาชน ทาง ครม.จึงมีคำสั่งให้ผู้ร่วมสังเกตการณ์มีส่วนร่วมด้วย แต่เป็นการเข้าร่วมเฉพาะในขั้นตอนคัดเลือกเอกชนเท่านั้น
โดยตัวแทนของ ACT ได้รับเชิญเข้าร่วมสังเกตการณ์ในบางช่วงของการคัดเลือกเอกชน และได้รับเชิญเข้าร่วมเฉพาะขั้นตอนประมูล ตัวแทนผู้สังเกตการณ์จึงไม่ได้มีการส่งรายงาน หรือมีข้อเสนอแนะที่เป็นนัยสำคัญ