สภาธุรกิจเอเปค ชงผู้นำเร่งแก้ปม เงินเฟ้อ-โลกร้อน
สภาธุรกิจเอเปค เตรียมเสนอ 69 ข้อสรุปสู่เวทีผู้นำ มุ่งฟื้นเศรษฐกิจส่งต่อโลกน่าอยู่ เร่งแก้ 3 เรื่องด่วนเงินเฟ้อ ความมั่นคงทางอาหาร และโลกร้อน
ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ปี 2565 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565 ซึ่งเวทีนี้ได้เปิดให้ภาคเอกชนมีบทบาทร่วมด้วย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจและการค้ากำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายไปจนถึงปัญหาการขาดแคลนซัพพลายเชนในระดับโลก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิด 3 ปัญหาเร่งด่วนที่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคเต้องช่วยกันเร่งแก้ไข ประกอบด้วย ภาวะเงินเฟ้อ ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน และการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ภาคเอกชนคาดหวังให้การประชุมเอเปคที่จะเกิดขึ้นนำไปสู่การหาแนวทางการสร้างสันติภาพ และการเจรจาประนีประนอมยุติความขัดแย้งของสงคราม ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาเร่งด่วนคลี่คลายและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น”
ทั้งนี้ ABAC ได้ข้อสรุป 69 ข้อที่รวบรวมข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนจาก 5 คณะทำงาน ได้รายงานต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้วเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมเสนอที่ประชุมผู้นำเอเปคใน 5 หัวข้อหลัก ประกอบไปด้วย
1. ด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค มุ่งเน้นในการอำนวยความสะดวกการเปิดการค้าเสรี การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยสนับสนุนระบบการค้าตามกฎสากลและเร่งให้เกิดเขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) รวมทั้งการรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเปคอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ภายในเขตเศรษฐกิจเอเปคที่มีประชากรรวมกันกว่า 2,900 ล้านคน และมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เป็นสัดส่วนกว่า 57% ของโลก โดยเฉพาะการส่งออกอาหารของไทย
แผนหนุนดิจิทัลต้องไปต่อ
2. ด้านดิจิทัล (Digital) มุ่งเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลสำหรับประเทศสมาชิก โดยไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านดิจิทัลที่ช่วยขับเคลื่อนและผลักดันให้ทุกเขตเศรษฐกิจก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งเรียกร้องให้เอเปคสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค ที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน
3. ด้าน MSMEs และการมีส่วนร่วม สนับสนุนด้านการเงิน ความรู้ และการปรับตัวให้กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 และส่งเสริมการมีบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิง เยาวชนและกลุ่มที่ยังไม่ได้รับโอกาส การยอมรับและเปิดโอกาสให้เติบโต อาทิ กลุ่มสตาร์ทอัพ
4. ด้านความยั่งยืน ซึ่งกลายเป็นเทรนด์สำคัญของโลกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จากสัญญาณของภัยธรรมชาติที่รุนแรงในปีนี้ อาทิอุทกภัยในปากีสถาน พายุเฮอริเคนที่มากกว่าปกติ ไฟป่าครั้งใหญ่ ทำให้ทุกเขตเศรษฐกิจต่างมุ่งหน้าสู่เป้าหมายเดียวกันในการสร้างสังคม Net Zero ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ พร้อมทั้งยังส่งเสริมให้มีความมั่นคงทางพลังงานและอาหารในอนาคต
5. ด้านเศรษฐกิจและการเงิน มุ่งสร้างมาตรการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและยั่งยืน ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อแก่เข้าสู่สังคมการเงินดิจิทัล
หวังเอเปคช่วยฟื้นท่องเที่ยวไทย
“นอกจากนี้ การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 จะเป็นโอกาสดีที่จะได้แสดงศักยภาพของการเป็นเมืองท่องเที่ยวบนเวทีระดับนานาชาติ รวมทั้งฟื้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้งภาคการส่งออกและการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโมเดลบีซีจีที่เป็นวาระแห่งชาติ”
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการและข้อริเริ่มต่างๆ จะทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การลดและยกเลิกปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทยให้เข้าสู่ระบบการค้าโลกได้ นำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“ผลลัพธ์ของการประชุมเอเปค จะช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังโควิด-19 ในด้านต่างๆโดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการค้าดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำอันก่อให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”