เอเปค 2022 ด้านคมนาคมมุ่งตอบโจทย์ 'ขนส่ง' แห่งอนาคตลดต้องคาร์บอน
ปี 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีหลายด้านและด้านการขนส่งและคมนาคมก็เป็นอีกหนึ่งเวทีที่เอเปคให้ความสำคัญ
ในโอกาสการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค (APEC Transportation Working Group Meeting : TPTWG) ครั้งที่ 52ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึง ว่าการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นภายใต้เป้าหมายหลัก คือ การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจเอเปคและระดับโลก
โดยการประชุมในครั้งนี้ กระทรวงฯ ได้จัดทำข้อมูลการพัฒนาคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศไทย ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2561 - 2580) นำเสนอให้กับประเทศสมาชิก จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้รับทราบแผนการดำเนินการของประเทศ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ ยังมีการหารือในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งเรื่องนโยบายสีเขียว (Green) และการลดคาร์บอน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่โลกกำลังให้ความสนใจ โดยเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG Economy เพราะหากไม่เริ่มดำเนินการ อาจเป็นปัจจัยหลักในการโดนกีดกันทางการค้า
โดยกระทรวงฯ ได้นำเสนอ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ และเป็นประตูเศรษฐกิจของโลก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และลงรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายในปี 2565 ก่อนที่ในปี 2566 จะไป Roadshow ของโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในประเทศที่มีสายการเดินเรือ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเหล่านี้มาร่วมลงทุนและใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ
สำหรับ โครงการแลนด์บริดจ์ เบื้องต้นประเมินว่าจะมีมูลค่ารวม 1,194,307 ล้านบาท โดยรูปแบบการบริหาร 2 ท่าเรือจะเป็นท่าเรือหนึ่งเดียวกัน (One Port Two Sides) โดยบริหารควบคู่ไปพร้อมกัน ถือเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งและเศรษฐกิจใหม่ทางทะเล เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าของภูมิภาค เชื่อมการขนส่งกับเส้นทางมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟ คู่ขนานแนวเส้นทางร่วมกันตามแผนบูรณาการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อแนวเส้นทารถไฟทางคู่ (MR-MAP) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจใน APEC อย่างไร้รอยต่อ
ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้รายงานผลการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค (APEC Transportation Working Group Meeting : TPTWG) ครั้งที่ 52 ไปยัง ครม. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งประกอบการหารือของการประชุมผู้นำ APEC 2022 ผลักดันหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” อำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และการฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจเอเปค
ทั้งนี้ ไทยได้ยืนยันถึงความพร้อมในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมโยงไร้รอยต่อผ่านการขนส่งหลายรูปแบบ เช่น การพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาท่าเรือบก การพัฒนาสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ (MR-MAP) และโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพ ได้เน้นย้ำในประเด็นสำคัญที่ไทยต้องการผลักดัน ส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในมิติบก น้ำ ราง และอากาศ และเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน โอกาสในการเติบโต และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว และการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาค
“ประเด็นสำคัญของภาคขนส่ง นอกจากปัจจุบันเราจะหารือกันถึงโครงข่ายคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางกันแล้ว ทุกประเทศยังเห็นตรงกันถึงการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนในภาคการขนส่ง การให้ความสำคัญต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนสำหรับการขนส่งทางบก ซึ่งฝ่ายไทยเรายืนยันความพร้อมที่ได้ริเริ่มนำเอาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ามาให้บริการแล้ว”
ขณะเดียวกันคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ยังให้การรับรองหัวข้อนโยบายหลักปี 2565 ได้แก่
1. การขนส่งทางอากาศ : อากาศยานไร้คนขับ-เส้นทางการบินสู่อนาคต
2. การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและระบบขนส่งอัจฉริยะ : การปรับปรุงการเข้าถึงและความครอบคลุมในการใช้เทคโนโลยีการขนส่งที่เกิดขึ้นใหม่
3. การขนส่งทางบก : มุ่งสู่การขนส่งอัจฉริยะ ยืดหยุ่น และปล่อยมลพิษต่ำ/เป็นศูนย์ในภูมิภาคเอเปค
4. การขนส่งทางน้ำ : การสนับสนุนการบูรณาการเทคโนโลยีและการบริการทางทะเลที่เกิดขึ้นใหม่ อัจฉริยะ และยั่งยืน
อีกทั้งที่ประชุมรับรองแผนปฏิบัติการด้านยุทธศาสตร์ของ TPTWG ปี 2565 - 2568 ซึ่งเป็นการกำหนดกลยุทธ์เพื่อพัฒนาแผนงานประจำปีและกิจกรรมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มสมาชิกภายใต้ TPTWG รวมถึงการนำเสนอโครงการของ TPTWG ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากเอเปคและเขตเศรษฐกิจเอเปค และการพัฒนาหัวข้อนโยบายหลักของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา
ทั้งนี้ การดำเนินงานของ TPTWG จะนำไปสู่ระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ไร้รอยต่อ มั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ.20401 และแผนปฏิบัติการเอาทีอารอ2 (Aotearoa Plan of Action) ในการสร้างภูมิภาคเอเปคที่เปิดกว้าง มีพลวัต ยืดหยุ่น และสงบสุข