ชาร์จ แมเนจเม้นท์ ชี้อีวีโต ผนึกกำลังชูแพลตฟอร์ม “จอง-จ่าย-จบ” ในแอปเดียว

ชาร์จ แมเนจเม้นท์ ชี้อีวีโต ผนึกกำลังชูแพลตฟอร์ม “จอง-จ่าย-จบ” ในแอปเดียว

ชาร์จ แมเนจเม้นท์ มองตลาดอีวีไทยโต เร่งพัฒนาสถานีชาร์จรถอีวีให้เข้าถึงคนไทย ชี้ สัดส่วนความต้องการสถานีชาร์จยังขาดอีก 5 เท่า ผนึกกำลัง “รัฐ-เอกชน” พัฒนาแพลตฟอร์มกลางดึงการเข้าถึงสถานีชาร์จอีวี “จอง-จ่าย-จบ” ในแอปเดียว คาดได้ใช้งานปีหน้า

นายพีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Smart City : Bangkok Model Session 2 : Everywhere Greener with Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ ทั่วถึง ครอบคลุม จัดโดย “เนชั่น กรุ๊ป” ว่า Concept ที่ทำให้ชีวิตผู้คนในเมืองหายใจอากาศสะอาดมากขึ้นคือ การนำเอาพลังงานสะอาดมาให้ ซึ่งการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงสำคัญ เพราะการเกิด PM2.5 และมลภาวะจากรถโดยสารมากสุด บริษัทจะนำเอา Charger มาอยู่ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด โดยจากการทำธุรกิจนี้มา 5 ปี และเป็นเจ้าแรกๆ ที่เริ่มติดตั้ง ปัจจุบันมีหัวชาร์จราว 1,500 หัวชาร์จ ที่เน้นบ้านอยู่อาศัย และคอนโดมิเนียม ที่ไม่มีแบรนด์ชัดเจน ถือว่าอยู่ในเบื้องหลังของการพัฒนา

ทั้งนี้ มลภาวะของเสียหรือก๊าซเรือนกระจกในอากาศเริ่มต้นมาจากภาคอุตสาหกรรมการใช้พลังงานเยอะถึง 60% ของมลภาวะเกิดจากการใช้พลังงานรอบโลก และ 12.6% เกิดมาจากการขนส่งสินค้าเป็นหลัก ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนมาเพ่งเล็งว่าจะทำยังไงให้ลดมลภาวะหรือคาร์บอนในด้านขนส่ง ดังนั้น บริษัทจึงมองเทคโนโลยีใหม่อย่างอีวี เพราะในตัวอีวี เมื่อมีการลงทุนหรือสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ บริษัทเอกชนหรือภาครัฐจะต้องร่วมมือกัน

“สิ่งที่เห็นชัดในธุรกิจอีวี คือ ภาครัฐโดยผลักดันให้บริษัทเอกชนเริ่มผลิตรถอีวีมากขึ้น และกำหนดเป้าหมายสัดส่วนการใช้รถอีวีในแต่ละปีตามนโยบาย 30@30 ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดคือ เทคโนโลยีถูกลง แบตเตอรี่ดีขึ้น และโมเดลรถอีวีหลากหลายขึ้น จึงมองว่าตอนนี้ประเทศไทยมีรถอีวี ครบทุก segment ที่ไม่ต้องรับซัพพลายเชนจากต่างประเทศตลอด ตอนนี้มีรถราคาหลักแสนบาทจนถึงหลักล้านบาท สามารถเข้ามาเสริมธุรกิจ Industry และทุกความต้องการของคนที่ใช้รถยนต์อยู่แล้ว”

นายพีระภัทร กล่าวว่า สำหรับเครื่องชาร์จรถอีวีปัจจุบันมีตั้งแต่เทคโนโลยีการชาร์จช้าจนถึงการชาร์จไว ตั้งแต่ 10 นาที หรือ 2-4 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ ผู้ให้บริการทั้งรัฐ และเอกชนอยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มกลางร่วมกัน เพื่อให้การใช้ Application Partner สร้าง Eco System ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ทำ Roaming service เพื่อให้ทุกคนเข้ามาอยู่ใน Standard เดียวกัน และลิงก์แอปพลิเคชันเข้าหากัน เพื่อให้บริการทั้งการจอง จ่ายเงิน หรือการเห็นสถานีของทุกคนใน App เดียว ซึ่งตอนนี้ได้ MOU ไปแล้ว คาดว่าปีหน้าจะใช้งานร่วมกันได้

“การเข้าถึงพลังงานสะอาดนั้นทุกคนสามารถใช้ชีวิตประจำวันของตนเองเพื่อไปหาแหล่งพลังงาน เมื่อกลับบ้านหรืออยู่ออฟฟิศก็ชาร์จได้ หรือแม้แต่เดินทางไปต่างจังหวัดก็ยังเข้าสถานที่ต่างๆ ทั้งที่ภาครัฐเตรียม และเอกชนมีให้บริการได้ และสุดท้ายการขยาย ecosystem จะมีมากกว่าบ้าน ออฟฟิศ และระหว่างการเดินทางรวม 8 Partner หลัก อาทิ ภาคขนส่ง ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยมีดีมานด์อีวีสูงมากแต่ปัญหาคือ ผลิตไม่ทัน”

ชาร์จ แมเนจเม้นท์ ชี้อีวีโต ผนึกกำลังชูแพลตฟอร์ม “จอง-จ่าย-จบ” ในแอปเดียว ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีรถอีวีวิ่งในตลาดน้อย แต่ยอดขายโตปีละ 60-70% แต่มีรถวิ่งแค่ 2-3% ประเทศไทยเป็นฐานผลิตรถที่ชัดเจน อีกทั้งแบรนด์ใหญ่ๆ จากต่างประเทศได้ปรับการผลิตรถสันดาปมาเป็นรถอีวีเยอะขึ้น และด้วยมาตรการสนับสนุนของภาครัฐสนับสนุนที่มีความชัดเจน ผู้ผลิตจึงพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนเทคโนโลยีอีวี และผลิตรถอีวีในประเทศไทย ส่วนสถานีชาร์จในประเทศยังไม่พอเพราะด้วยจำนวนรถอีวีหากคำนวณเครื่องชาร์จ 1 ต่อ 4 คัน จะต้องมีเครื่อง 10,000 - 20,000 เครื่อง แต่ตอนนี้มีแค่ 2,000 เครื่อง ขาดอีก 5 เท่าโดยประมาณ ที่ยังไม่รวมเครื่องชาร์จไฟบ้าน

“มองว่าอนาคตรถอีวีเติบโตมาก แม้แต่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งตอนนี้ก็ผลิตไม่ทัน ซึ่งความต้องการเรื่องของใช้อีวีเราชัดเจนอยู่แล้วคือ ประหยัดพลังงานถูกกว่าน้ำมัน 5 เท่า และสะอาดต่อมลภาวะ อนาคตก็อาจจะมีสถานีชาร์จอีวีให้กับรถมอเตอร์ไซค์ตามวินมอเตอร์ไซค์ของชุมชนต่างๆ เกิดขึ้นได้”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์