“ประยุทธ์”หารือ 'ผู้นำเอเปค' ดันความร่วมมือยุทธศาสตร์ - บีซีจี ฟื้นเศรษฐกิจ
“ประยุทธ์”ดันบทบาทไทยเวทีเอเปค ทวิภาคีผู้นำ 6 ชาติ ประเดิมรับประธานาธิบดีเวียดนามวันนี้ ที่ทำเนียบ เผยนายกฯ เตรียมลงนามความร่วมมือกับหลายประเทศ ทั้งซาอุฯ จีน ญี่ปุ่น เน้นความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ ครอบคลุมเศรษฐกิจ - การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การประชุมผู้นำความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565 ประเทศไทยจะได้เสนอเวทีผู้นำเอเปคพิจารณาในหลายประเด็น โดยเฉำาพร่างเอกสาร Bangkok Goals on BCG Economy ที่จะเป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเปค โดยกำหนดเป้าหมาย 4 ระดับ คือ 1.จัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศ , Carbon neutrality , Net zero 2.การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3.การจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน 4.การลดและจัดการของเสีย
นอกจากนี้จะมีการเสนอวาระต่อผู้นำ ดังนี้ 1.การอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน โดยจะผลักดันเขตการค้าเสรีเอเปค (FTAAP) 2.การฟื้นฟูความเชื่อมโยง การเดินทาง การท่องเที่ยวหลังโควิด ซึ่งครอบคลุมการส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกปลอดภัยและ การยอมรับใบรับรองวัคซีนร่วม 3.การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งจะเสนอให้มีการขับเคลื่อน BCG
การประชุมครั้งนี้มีผู้นำหรือผู้แทนเข้าร่วมครบ 21 เขตเศรษฐกิจ รวมทั้งมีแขกพิเศษของรัฐบาล 2 คน คือ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ในขณะที่ฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียน ยกเลิกการเข้าร่วมเพราะติดโควิด
นอกจากประเด็นที่ผู้นำจะได้มีการหารือกันแล้ว จะมีการหารือในระดับทวิภาคีกับผู้นำประเทศและองค์กรระหว่างประเทศรวมถึงไทยจะลงนามเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ โดยมีผู้นำเวียดนามเป็นชาติแรกที่เดินทางถึงไทยและเจรจาข้อราชการที่ทำเนียบรัฐบาล
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีกำหนดหารือทวิภาคีกับผู้นำ 6 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 1 แห่ง ดังนี้
1.นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม พร้อมทั้งลงนามแลกเปลี่ยนความตกลงและบันทึกความเข้าใจ (MOU) การแถลงข่าวร่วม ในวันที่ 16 พ.ย.2565
2.เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะมีการหารือพร้อมลงนามเอกสารหลายฉบับในวันที่ 18 พ.ย.2565 ประกอบด้วย ร่างแผนขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย (2565-2567) ที่ครอบคลุมด้านการเมือง ความมั่นคงเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม
รวมทั้งลงนาม MOU ประกอบด้วย MOU ยกเว้นตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการและหนังสือเดินทางพิเศษ , MOU ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว , MOU ความร่วมมือด้านพลังงาน , MOU ว่าด้วยการตั้งสภาความร่วมมือซาอุดีอาระเบีย-ไทย และ MOU ความร่วมมือด้านส่งเสริมการลงทุน
“ประยุทธ์”หารือ“สีจิ้นผิง”
3.นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะหารือทวิภาคีในวันที่ 19 พ.ย.2565 รวมทั้งจะมีการรับบองเอกสาร 2 ฉบับ คือ แผนปฏิบัติการความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน และแผนความร่วมมือส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและ One belt one road รวมทั้งจะมีการลงนาม MOU ความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนั้นยังมีประเด็นการหารือระหว่างไทยและจีนในประเด็นอื่นๆเช่น การขับเคลื่อนความสัมพันธ์ะหว่างไทยกับจีน ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านในปี 2565 นี้ และการเตรียมการสู่การครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ในปี 2568 การย้ำท่าทีทางการเมืองในการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน และการส่งเสริมการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยง
รวมถึงการขับเคลื่อนแนวคิดการสร้างระเบียงการพัฒนาความเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีของจีน โดยเฉพาะสาขาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า
4.นายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย จะหารือทวิภาคีในวันที่ 19 พ.ย.2565 ซึ่งเป็นการหารือพร้อมลงนาม MOU ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และสร้างความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทสตรีในระบบเศรษฐกิจ
5.นาย คิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะหารือทวิภาคีในวันที่ 17 พ.ย.2565 ซึ่งเป็นการหารือพร้อมลงนามเอกสาร 2 ฉบับ คือ ร่างถ้อยแถลงยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน และร่างแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ในระยะ 5 ปี ซึ่งครอบคลุมการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษาขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ การพัฒนาด้านอวกาศ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
6.นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส จะมีการหารือทวิภาคีในวันที่ 17 พ.ย.2565 ซึ่งจะหารือความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน
7.นางคริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะหารือทวิภาคีในวันที่ 18 พ.ย.2565
หารือเขตการค้าเสรีเอเปค
นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค อย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 1 ได้เริ่มต้นหารือเพื่อผลักดันการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งหวังให้เป็นเขตเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก นับเป็นกลไกสำคัญที่จะขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ และหนุนการเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในหมู่สมาชิก
สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการเตรียมเสนอต่อเวทีระดับรัฐมนตรีเอเปคในวันที่ 17 พ.ย.2565 ซึ่งจะมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมกัน
ทั้งนี้เมื่อได้ข้อสรุปจากเวทีที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคก็จะเสนอต่อเวทีผู้นำเอเปคในวันที่ 18-19 พ.ย.2565 ซึ่งทำให้การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสจะต้องหารือรายละเอียด เพื่อนำไปสู่การเจรจาการลดภาษีระหว่างกลุ่มเอเปคเป็นรายสินค้าได้มากขึ้น จึงหวังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตหลายมิติ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว